Camping Gear

1.เป้เดินป่า
1.1ชนิดและประเภทของเป้
ปัญหาสำคัญข้อหนึ่งที่ผู้เริ่มต้นเดินป่าแทบทุกคนประสบก็คือ "การเลือกเป้" ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการเดินป่าเลยทีเดียว ส่วนใหญ่แล้วจะไม่แน่ใจว่าควรจะใช้เป้แบบใด ขนาดไหน เวลาจะซื้อต้องดูที่อะไรบ้าง หรือแม้แต่จะซื้อยี่ห้ออะไรดี สำหรับผู้เคยมีประสบการณ์เดินป่ามาก่อนแล้ว และอยากจะได้เป้ใบใหม่ ก็อาจจะพอทราบความต้องการของตัวเอง โดยอาศัยประสบการณ์จากการใช้เป้ใบเก่าว่ามีข้อเสียตรงไหนบ้าง แต่สำหรับมือใหม่ จะเลือกยังไงดีล่ะ?

วิธีที่ง่ายที่สุดก็คงจะเป็นการถามไถ่ผู้รู้ หรือผู้ที่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แต่หลายคนก็คงหลายความคิด ความชอบก็คงจะต่างกันไป อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดในการตัดสินใจซื้อเป้ก็คือ ควรจะต้องลองแบกดูก่อน เพื่อกะขนาดน้ำหนัก และความพอดีกับตัวของเรา เพราะในการเดินป่านั้น ความคล่องตัวเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง บางครั้งอาจจะต้องมีทั้งการปีนป่าย มุด ลอด โหน กระโดด ฯลฯ จึงจำเป็นที่จะต้องเลือกเป้ที่คิดว่าพอดี สะดวกสบาย และให้ความคล่องตัวกับเรามากที่สุด

เป้ที่ออกแบบมาสำหรับใช้ในการเดินป่าระยะไกลที่จำเป็นจะต้อง เข้าไปนอนค้างแรมในป่า หรือการเดินป่าตั้งแต่สองวันขึ้นไปนั้น จะเป็นเป้มีโครง ซึ่งออกแบบโดยช่วยให้มีการถ่ายเทน้ำหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยแบ่งน้ำหนักของเป้ไปตามจุดต่างๆ ของร่างกาย เพื่อไม่ให้บ่ารับน้ำหนักมากเกินไป เป้มีโครงจะมีอยู่สองประเภท คือ เป้โครงนอก และเป้โครงใน

1.2 เป้โครงนอก เป้ที่ใช้กันในสมัยแรกๆ คือเป้โครงนอก ซึ่งจะมีลักษณะที่ค่อนข้างใหญ่กว่าเป้โครงใน บางคนอาจจะเห็นว่าค่อนข้างใหญ่และเทอะทะ ตัวโครงของเป้โครงนอกส่วนมากจะทำจากท่ออลูมิเนียมและอยู่ด้านนอกของตัวเป้ ส่วนใหญ่เป้โครงนอกจะออกแบบให้มีการถ่ายน้ำหนักทั้งหมดลงไปที่สะโพกของผู้ สะพาย

ข้อดีของเป้โครงนอกคือ ระหว่างตัวเป้กับแผ่นหลังของผู้สะพาย พอจะมีช่องว่างให้อากาศถ่ายเทได้มากกว่าเป้โครงใน ทำให้มีการระบายอากาศดีกว่า และไม่รู้สึกอบหรือร้อนมากนัก เป้โครงนอกส่วนใหญ่จะมีช่องเล็กช่องน้อยสำหรับเก็บของมากกว่าเป้โครงใน ทำให้สามารถแยกเก็บของเป็นสัดเป็นส่วนและสะดวกต่อการค้นหาและนำมาใช้งาน ข้อสำคัญ เป้โครงนอกมักจะราคาถูกกว่าเป้โครงใน

แต่เป้โครงนอกก็ยังมีจุดอ่อนสำคัญที่น่าจะต้องคำนึงถึงคือ เป้โครงนอกไม่ค่อยมีความยืดหยุ่นมากนัก เนื่องจากตัวโครงที่ค่อนข้างแข็ง ไม่ยืดหยุ่น และไม่กระชับพอดีกับแผ่นหลัง ทำให้เวลาสะพายเดินป่า เราจะรู้สึกไม่ค่อยคล่องตัวนัก เหมือนกับต้องเดินหลังแข็งไปตลอดทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาจำเป็นต้องเดินบุกป่าฝ่าดงที่รกๆ ซึ่งป่าเมืองไทยส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะนี้ เนื่องจากเป้เหล่านี้ออกแบบมาจากต่างประเทศ และการเดินป่าในต่างประเทศส่วนใหญ่มักจะมีการจัดเตรียมเส้นทางเพื่ออำนวย ความสะดวกให้นักท่องเที่ยวไว้แล้ว และมีทางเดินที่ค่อนข้างกว้างจึงไม่เป็นอุปสรรคมากเท่ากับการเดินป่าในไทย

จากคุณสมบัติและข้อดีข้อเสียของเป้โครงนอก จึงพอจะสรุปแนะนำได้คร่าวๆ ว่า เป้โครงนอกนั้น อาจจะเหมาะสำหรับการเดินป่าในเส้นทางที่ค่อนข้างสบาย ไม่ยากลำบากหรือรกมากเกินไปนัก และอาจจะเหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มเดินป่าใหม่ๆ ที่อาจจะยังไม่แน่ใจตัวเองนักว่าชอบการเดินป่าจริงๆ หรือไม่ เนื่องจากราคาที่ค่อนข้างจะถูกกว่ามาก เพราะหากลองเดินป่าครั้งแรกแล้วรู้สึกไม่ชอบหรือไม่ประทับใจอย่างที่คิดจะ ได้ไม่เสียดายมากนัก

1.3 เป้โครงใน เป้โครงในจะมีลักษณะเพรียวกว่าเป้โครงนอก วัสดุที่ใช้เป็นโครงส่วนใหญ่จะเป็นวัสดุประเภทอลูมิเนียมหรือไฟเบอร์ มักจะกว้างประมาณ 1 นิ้ว และไม่หนามาก ตัวโครงจะหุ้มด้วยโฟมอีกชั้นหนึ่งและซ่อนไว้ในตัวเป้ด้านที่สัมผัสกับหลัง ของผู้สะพาย และบางแบบจะสามารถปรับระดับความสูงให้เข้ากับลำตัวของผู้สะพายได้ โครงสร้างของเป้โครงในนั้น จะออกแบบให้ช่วยในการกระจายน้ำหนักของเป้ไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งได้แก่ ไหล่ หลัง และสะโพก

ข้อดีของเป้โครงในมีหลายประการด้วยกัน ประการแรกคือ มีความยืดหยุ่นสูงเพราะถึงแม้ว่าตัวโครงจะแข็งแรงทนทาน แต่ไม่ถึงกับแข็งกระด้างเหมือนโครงของเป้โครงนอก ประการที่สอง เป้โครงในช่วยรักษาสมดุลและความมั่นคงในการเดินให้กับผู้สะพายได้เป็นอย่าง ดี เนื่องจากเป้โครงในทั่วไปมักจะออกแบบให้มีสายสำหรับรัดอุปกรณ์ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้มากที่สุด จึงทำให้สามารถเก็บอุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างรัดกุม ไม่ส่ายไปมาระหว่างการเดิน นอกจากนี้ เป้โครงในยังให้ความคล่องตัวสูงเนื่องจากรูปแบบที่ค่อนข้างจะเล็กและกระชับ กว่าเป้โครงนอก และเป้โครงในยังสามารถปรับให้เข้ากับผู้ใช้ได้ดีกว่าเป้โครงนอกด้วย เช่น การปรับสายรัดที่สะโพก และการปรับระดับของที่สะพายไหล่ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ข้อเสียของเป้โครงในก็ยังมีบางประการเช่นกัน อย่างแรกคือ เป้โครงในส่วนมากมักจะมีช่องเก็บของด้านในตัวเป้เพียงช่องเดียว เป้รุ่นใหม่อาจจะมีชั้นแยกที่เก็บถุงนอนกั้นไว้ด้านล่างของตัวเป้ แต่นอกนั้น ของต่างๆ จะเก็บรวมกันในช่องใหญ่เพียงช่องเดียว ซึ่งบางครั้ง จะทำให้ลำบากเวลาต้องการค้นหาของบางอย่าง แต่ปัญหานี้ก็อาจจะไม่หนักหนามาก หากคุณมีประสบการณ์ในการเดินป่ามากขึ้น ก็จะทำให้พอจะรู้เทคนิคในการแพ็คของว่าควรจะวางอะไรไว้ตรงไหนบ้าง ข้อเสียประการถัดมาก็คือ เป้โครงในส่วนใหญ่จะออกแบบมาให้กระชับพอดีกับแผ่นหลังของผู้สะพาย ทำให้ไม่ค่อยมีที่สำหรับการระบายอากาศ ซึ่งอาจจะทำให้คุณรู้สึกร้อน และอาจจะเกิดความระคายเคืองได้หากคุณเป็นคนขี้ร้อนและแพ้เหงื่อง่าย ประการสุดท้ายคือ เป้โครงในส่วนใหญ่มักจะมีราคาแพงกว่าเมื่อเทียบกับเป้โครงนอกขนาดเท่ากัน

2.วิธีการเลือกซื้อเป้ ในตลาดทั่วไปมีเป้ดีๆ อยู่หลายยี่ห้อ ผู้ผลิตแต่ละรายก็ล้วนแล้วแต่ทุ่มเท ค้นคว้า ออกแบบและผลิตเป้ที่มีคุณภาพออกมาทั้งนั้น แต่สิ่งสำคัญนั้นอยู่ที่ว่าเป้แต่ละใบนั้น ต่างก็เหมาะสำหรับผู้ใช้แต่ละคนแตกต่างกันออกไปนั่นเอง ดังนั้น เป้ที่ดีคือเป้ที่เราสะพายแล้วรู้สึกสบายที่สุด นอกจากเราควรจะต้องลองสะพายเป้ด้วยตัวเองในเวลาเลือกซื้อ เพื่อให้มั่นใจว่ามีความเหมาะสมกับตัวเราแล้ว นอกจากนี้ยังมีข้อควรพิจารณาอื่นๆ อีกหลายอย่าง ดังนี้

2.1 ความจุของตัวเป้ (Capacity of the Pack)

ก่อนอื่นควรจะต้องรู้ว่าคุณมักจะเดินทางท่องเที่ยวลักษณะใด เดินป่าระยะสั้นหรือเดินป่าครั้งละเป็นสัปดาห์ สภาพอากาศหนาวหรือร้อน จำเป็นต้องเอาอุปกรณ์กันหนาวหรืออุปกรณ์พิเศษอื่นๆ ติดตัวไปด้วยหรือไม่ หรือว่าคุณต้องแบกอุปกรณ์ทำครัวหรือของส่วนกลางมากน้อยเพียงใด แต่ข้อสำคัญอย่างหนึ่งคือ ไม่ควรซื้อเป้ที่มีขนาดใหญ่เกินความต้องการ เพราะโดยทั่วๆ ไปแล้ว ธรรมชาติของคนเรา หากมีที่เหลือก็มักจะใส่ของเพิ่มเข้าไปอีกเรื่อยๆ จนกว่าจะเต็ม ซึ่งอาจจะทำให้คุณต้องแบกสัมภาระหนักเกินไปทั้งๆ ที่ไม่ได้มีความจำเป็นมากมายเลยก็ได้

30-50 ลิตร เป้ขนาดนี้เหมาะสำหรับการเดินป่าท่องเที่ยวในระยะ สั้นๆ เช่น การท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือการท่องเที่ยวไปในเส้นทางที่ไม่จำเป็นต้องแบกอุปกรณ์พิเศษอะไรเข้าไปมาก นัก นอกจากถุงนอนใบเล็กๆ เต็นท์หรือเปล และอุปกรณ์ทำอาหารทั่วๆ ไป
50-70 ลิตร สำหรับคนที่ต้องการเดินป่ามากกว่าในระยะเวลาประมาณ 2-4 วัน ควรจะลองพิจารณาเป้ขนาดนี้ดูเพราะเพียงพอที่จะใส่อุปกรณ์ทุกอย่างที่จำเป็น สำหรับการเดินป่าในช่วงเวลานั้นๆ ได้ และเป้ไซส์นี้ก็เป็นที่นิยมสำหรับผู้หญิงที่จะใช้ในการเดินป่าหลายๆ วันด้วยเช่นกัน
70-100 ลิตร เป้ขนาดใหญ่นี้ เหมาะสำหรับที่จะใช้บนเส้นทางที่ยาวนานเป็นสัปดาห์ขึ้นไป หรือสำหรับผู้ที่ต้องเตรียมถุงนอนใบใหญ่หรือเสื้อกันหนาวหนาๆ ไปด้วย แต่สำหรับอากาศในบ้านเราอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เป้ขนาดใหญ่ขนาดนี้ก็ได้

2.2 ระบบช่วยในการสะพายและโครงของเป้ (Suspensions and Frames)

เป้บางรุ่นจะสามารถปรับระดับได้
ระบบ ที่ช่วยในการสะพายเป้นี้ประกอบไปด้วยบริเวณที่สำคัญสองส่วนคือสายสะพายบ่า (Shoulder Straps) และสายรัดสะโพก (Hip Belts) เป้ธรรมดาทั่วๆ ไปหรือเป้เดินป่าสมัยก่อนมักจะมีสายสะพายบ่ากับสายรัดสะโพกที่ตายตัว แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีการผลิตได้ก้าวหน้าไปมาก ผู้ผลิตต่างก็พยายามพัฒนาเป้เดินป่าของตนให้ล้ำหน้าและเหมาะกับการใช้งานมาก ขึ้น มีผู้ผลิตหลายรายที่ผลิตเป้เดินป่าที่สามารถปรับระดับสายสะพายบ่าและสายรัด สะโพกให้เหมาะกับผู้ใช้ได้ดีมากขึ้น ระบบที่สามารถปรับสายสะพายบ่าได้นี้แบ่งออกเป็นสองประเภทคือ

* เป้ที่สามารถปรับระดับได้เต็มที่ (Fully Adjustable Suspension) ซึ่งเราจะสามารถเลื่อนระดับสายสะพายบ่าขึ้นลงในระดับใดก็ได้ให้พอเหมาะกับ ขนาดลำตัวของเราได้เป็นอย่างดี โดยมักจะปรับระดับลำตัวได้ตั้งแต่ 14 – 21 นิ้ว
* เป้ที่สามารถปรับระดับได้ตามช่วงที่กำหนดไว้ (Certain Size Ranges) ซึ่งมักจะแบ่งออกเป็นขนาดเล็ก (14-16 นิ้ว) กลาง (17-19 นิ้ว) และใหญ่ (20 นิ้วขึ้นไป)

นอกจากนี้ ผู้ผลิตบางรายยังได้มีการผลิตเป้แบบพิเศษสำหรับคนที่มีขนาดลำตัวไม่มาตรฐาน โดยอาจจะมีความยาวลำตัวมากกว่าคนปกติหรือน้อยกว่าคนปกติมากๆ ด้วยเช่นกัน

2.3 ขนาดความยาวของลำตัว (Torso Size)

เหตุที่เราจำเป็นจะต้องพิจารณาเรื่องขนาดความยาวของลำตัวของ เราในเวลาเลือกซื้อเป้ด้วยนั้น ก็เนื่องจากในปัจจุบัน ผู้ผลิตมักจะออกแบบเป้มาให้ช่วยในการผ่อนแรงและอำนวยความสะดวกกับผู้ใช้มาก ขึ้นเรื่อยๆ หากเราใช้เป้ที่มีขนาดใหญ่เกินไป จะทำให้สายรัดสะโพกไม่อยู่ในระดับที่ควรจะเป็น คือจะอยู่ต่ำกว่าสะโพกเรามากเกินไป ซึ่งจะทำให้ไม่ช่วยในการผ่อนน้ำหนักได้เลย และอาจจะยังทำให้เป้กระแทกหลังเราตลอดเวลาที่เดินอยู่ด้วย หากเป้มีขนาดเล็กเกินไป สายสะพายบ่าก็อาจจะรัดช่วงบ่าเนื่องจากความกว้างช่วงบ่าอาจจะเล็กเกินไปจนทำ ให้เกิดการบาดเจ็บได้ และเป้อาจจะรั้งและถ่วงไปด้านหลังมากเกินไปอีกด้วย

โดยปรกติแล้วความยาวของลำตัวตามมาตรฐานของเป้ที่มีจำหน่ายจะมีอยู่ 3 ขนาดคือ

* ขนาดเล็ก ไม่เกิน 17.5 นิ้ว
* ขนาดกลาง 18-19.5 นิ้ว
* ขนาดใหญ่ มากกว่า 20 นิ้ว

เป้หลายยี่ห้อจะมีขนาดให้เลือกตามความยาวของลำตัว แต่เป้ที่ผลิตในบ้านเรายังไม่ค่อยจะมีให้เลือกขนาดสักเท่าไหร่ส่วนใหญ่จะมี ขนาดเดียวในเป้แต่ละรุ่น ส่วนเป้ที่นำเข้าจากต่างประเทศและมีขนาดให้เลือกก็พอจะมีให้เห็นบ้างแต่ไม่ มากนัก

การวัดความยาวลำตัว



2.4 ทดลองปรับระดับการสะพายเป้ (Adjusting the Suspension)

ตำแหน่งสายรัดสะโพก
เมื่อ คุณไปเลือกซื้อเป้ที่ร้าน จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะต้องทดลองสะพายดูด้วย ร้านที่ดีจะต้องอนุญาตให้ลูกค้าทดลองสะพายเป้และต้องมีหมอนหรืออุปกรณ์ บางอย่างมาทดลองใส่เป้ให้เราได้ทดสอบกับน้ำหนักที่ใกล้เคียงกับเวลาเดินป่า จริงด้วย สิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องทดสอบก็คือสายรัดสะโพก เป้ที่เหมาะกับตัวเราจะต้องมีสายรัดสะโพกที่สามารถรัดได้พอดีกับระดับกระดูก เชิงกราน ซึ่งจะทำให้น้ำหนักของเป้ได้ถ่ายเทมาที่สะโพกของเรา ไม่ไปตกเป็นภาระหนักอยู่ที่บ่าของเราเพียงที่เดียว หากระดับของสายรัดสะโพกอยู่สูงหรือต่ำเกินไปก็จะเกิดผลเสียดังที่ได้กล่าวไป แล้วในข้อ 3

2.5 สายสะพายบ่า (Shoulder Straps)

ส่วนที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือสายสะพายบ่า ควรจะเลือกเป้ที่เมื่อลองสะพายดูแล้ว สายสะพายแต่ละข้างอยู่ในระดับกึ่งกลางกระดูกไหปลาร้าพอดี หากเป้มีช่วงกว้างที่แคบเกินไปจะทำให้เมื่อสะพายแล้วสายสะพายบ่าจะอยู่ชิด กับคอมากเกินไป จะรู้สึกรำคาญในขณะเดินและยังทำให้ปวดกล้ามเนื้อบริเวณบ่าอีกด้วย หากเป้มีช่วงกว้างมากเกินไปก็อาจจะทำให้เป้มักจะเลื่อนหลุดได้ง่ายๆ และยังไม่ช่วยรับน้ำหนักได้อีกด้วย

2.6 วัสดุที่ใช้ทำเป้ (Materials)

วัสดุที่ใช้ผลิตเป้ส่วนใหญ่มักจะเป็นวัสดุที่กันน้ำ และจะต้องเป็นวัสดุที่แข็งแรงทนทาน แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีน้ำหนักเบาอีกด้วย ที่นิยมกันมากคือ Cordura และ Ripstop ซึ่งแบบ Ripstop นี้ หลายๆ คนลงความเห็นว่ามีความแข็งแรงทนทานต่อการขีดข่วนได้มาก สำหรับในบริเวณที่คาดว่าจะมีการขีดข่วนหรือเสียดสีมากๆ ก็จะเปลี่ยนไปใช้ไนล่อนที่มีความแข็งแรงทนทานมากขึ้นไปอีก เช่น Ironcloth, Spectra และ Pack Cloth นอกจากนี้ เป้ส่วนใหญ่ยังมีบางบริเวณที่ทำจากตาข่ายยืดหรือโฟมที่มีการระบายอากาศสูง เพื่อช่วยให้แผ่นหลังของเรามีการระบายอากาศได้ดีขึ้น

ข้อพึงระวัง

ในการเลือกซื้อเป้ทุกครั้ง คุณควรจะต้องได้ลองสะพายและสัมผัสด้วยตนเอง หากเป็นไปได้ไม่ควรจะซื้อผ่านอินเทอร์เน็ตโดยยังไม่ได้ลองสะพายดูก่อน แต่หากคุณจะซื้อผ่านอินเทอร์เน็ตก็ควรจะแน่ใจด้วยว่าร้านนั้นมีนโยบายที่จะ ให้ลูกค้าคืนสินค้าหรือเปลี่ยนได้

3.ส่วนประกอบของเป้ ในส่วนนี้จะขอเน้นในเรื่องของส่วนประกอบของเป้โครงใน เพราะถึงแม้จะมีข้อเสียอยู่บ้างบางประการ แต่เนื่องจากความคล่องตัวที่มีมากกว่าเป้โครงนอก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเดินป่าในเมืองไทย เป้โครงในจึงเป็นที่นิยมกันมากขึ้น และผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศก็ยังมีการค้นคว้าเพื่อพัฒนาการผลิตเป้โครงใน ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย

สำหรับบางคน อาจจะเห็นว่าเป้โครงในมักจะมีสายรัดต่างๆ มากมาย ซึ่งบางครั้งอาจจะมองว่าเกะกะ แต่จริงๆ แล้ว สายรัดต่างๆ เหล่านี้ได้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและความคล่องตัวในการเดินป่า มากที่สุด เช่น

* สายปรับระดับตัวเป้ (Upper Straps) ซึ่งใช้สำหรับปรับยึดที่สะพายบ่ากับตัวเป้ให้กระชับมากที่สุดขณะเดิน
* สายรัดอก (Sternum Straps) ซึ่งยึดที่สะพายบ่าทั้งสองข้าง ทำให้เป้ไม่เหวี่ยงไปมาเวลาเดิน
* สายรัดเป้ (Compression Straps) ซึ่งอยู่ด้านข้างทั้งสองข้างของตัวเป้ ช่วยรัดให้เป้มีขนาดเล็กและกระชับ หรือสามารถรัดของเบาๆ ไว้ด้านนอกตัวเป้ได้ด้วย

3.1 สายรัดสะโพก (Hipbelt)


สายรัดสะโพกที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับเป้เดินป่านั้น จะแตกต่างจากสายรัดเอวของเป้ที่ใช้ธรรมดาที่ไม่มีโครงทั่วๆ ไป ที่เป็นเพียงเส้นบางๆ สายรัดสะโพกสำหรับเป้เดินป่าจะมีลักษณะหนาและนุ่มกว่ามาก โดยมีการบุข้างในด้วยวัสดุหลายชั้น เช่น โฟมที่มีความแข็งขึ้นรูป และโฟมอีกชนิดที่มีความนุ่มกว่าและให้ความยืดหยุ่นมากกว่า ซึ่งเอาไว้รองรับการกระแทกระหว่างน้ำหนักของเป้กับสะโพกของเรา สายรัดสะโพกที่พอดีควรจะสามารถรัดได้ในระดับสะโพกตรงบริเวณกระดูกเชิงกราน ซึ่งจะเป็นจุดที่ช่วยในการถ่ายน้ำหนักได้ดีที่สุด เวลาเลือกซื้อเป้ควรจะให้ความสำคัญในส่วนของสายรัดสะโพกให้มาก เพราะหากวัสดุที่บุด้านในนิ่มหรือบางเกินไป อาจจะใช้ช่วยในการรองรับแรงกระแทกได้ไม่มากนัก ซึ่งจะทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเป็นแผลบริเวณสะโพกได้ หรือหากวัสดุที่บุด้านในสายรัดสะโพกแข็งเกินไป ก็อาจจะทำให้เกิดบาดแผลกับสะโพกได้เช่นกัน

เป้เดินป่าบางรุ่น จะออกแบบมาให้สามารถจะเปลี่ยนสายรัดสะโพกได้ตามความต้องการของเรา หรือบางรุ่นอาจจะสามารถปรับมุมของสายรัดให้เข้ากับเราได้มากที่สุดอีกด้วย เมื่อคาดสายรัดสะโพก ควรจะปรับให้พอดีกับสะโพก ไม่หลวมเกินไปจนไม่ช่วยในการกระจายน้ำหนักลงที่สะโพก หรือไม่แน่นจนเกินไป จนอาจจะทำให้เกิดการเสียดสีสะโพกมากจนเกินไปได้

3.2 สายสะพายบ่า (Shoulder straps)

ที่สะพายบ่าสำหรับเป้โครงในรุ่นใหม่ มักจะมีความหนานุ่ม และบุด้วยวัสดุที่คล้ายคลึงกับวัสดุที่บุในสายรัดสะโพกเช่นกัน เพื่อช่วยลดแรงกดกระแทกกับบ่าของเรา ไม่ทำให้เกิดการเสียดสี หรือเกิดความเจ็บปวดมากจนทำให้การเดินป่ากลายเป็นความทรมานไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเหงื่อออกมากๆ ในเป้รุ่นใหม่ๆ บางรุ่น (ส่วนมากมักจะเป็นของต่างประเทศ) จะสามารถปรับระดับของที่สะพายบ่าได้ตามความสูงของผู้สะพายอีกด้วย

3.3 แผ่นรองหลัง (Framesheet)

เป้โครงในจะมีแผ่นรองหลังเพิ่มเติม ซึ่งเป็นแผ่นพลาสติกแข็งๆ บางๆ กั้นระหว่างตัวเป้กับแผ่นหลังของเรา โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยลดการกระแทกระหว่างของที่อยู่ในเป้กับหลังของเรา เป้บางรุ่นอาจจะมีผ้าตาข่ายหรือแผ่นโฟมบางๆ ติดอยู่ที่เป้บริเวณใกล้กับกึ่งกลางหลังของเรา เพื่อช่วยให้เกิดการระบายอากาศได้ดีขึ้นอีกด้วย

3.4 ตัวเป้ (Packbags)

ส่วนใหญ่แล้ว สิ่งที่จะพิจารณาก็คือเนื้อผ้าหรือวัสดุที่ใช้ทำเป้ ซึ่งปัจจุบันนี้นิยมใช้เนื้อผ้าที่เป็นไนล่อน เนื่องจากมีน้ำหนักเบา แข็งแรงทนทาน และส่วนมากแล้วจะสามารถต้านทานการขีดข่วนได้ในระดับหนึ่ง และบางรุ่นยังกันน้ำได้อีกด้วย (ที่ว่ากันน้ำได้นั้น น่าจะหมายถึงตัววัสดุที่ใช้มีสารเคลือบกันน้ำได้ ในกรณีที่ฝนตกปรอยๆ หรือโดนน้ำกระเซ็นใส่เล็กน้อย ... แต่ถ้าเป้ตกน้ำหรือวางตากฝนทิ้งไว้ ก็คงจะไม่สามารถกันน้ำได้ร้อยเปอร์เซ็นต์แน่ๆ เพราะน้ำสามารถจะเข้าไปตามรอยต่อหรือฝากระเป๋า หรือซิปต่างๆ ได้)

ส่วนมากแล้วข้อเสียของเป้โครงในก็คือการมีช่องเก็บของในตัวเป้ เพียงช่องเดียว ซึ่งทำให้การค้นหาของระหว่างการเดินทางทำได้ลำบาก แต่เป้โครงในรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้มักจะออกแบบให้มีช่องเก็บถุงนอนแยกต่าง หากอยู่ด้านล่างของตัวเป้ และอาจจะเชื่อมกับช่องเก็บของใหญ่ของตัวเป้โดยมีชั้นกั้นเอาไว้และสามารถรูด ซิปเปิดปิดได้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาไปได้เหมือนกัน เพราะถุงนอนเป็นอุปกรณ์ที่ค่อนข้างจะต้องการพื้นที่เก็บมากพอสมควร

3.5 อุปกรณ์เสริม

เป้โครงในรุ่นใหม่ๆ มักจะมีการเพิ่มอุปกรณ์เสริมต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้มากขึ้น เช่น

* กระเป๋าลูก (Detachable pocket)
เป้โครงในหลายรุ่น ออกแบบมาโดยการเพิ่มกระเป๋าลูกใบเล็กแปะไว้ด้านหน้าของตัวเป้อีกชั้น ซึ่งจะสามารถแยกชิ้นส่วนออกมาเป็นเป้ใบเล็กที่เหมาะสำหรับการเดินเที่ยวใน ระยะสั้นๆ หรือเดินสำรวจรอบบริเวณ เมื่อเราไปถึงที่พักแล้ว
* กระเป๋าเก็บขวดน้ำ (Water-bottle holders/hydration pockets)
เป้โครงนอกส่วนใหญ่จะมีกระเป๋าข้างมากกว่าเป้โครงใน ซึ่งสะดวกสำหรับการเก็บขวดน้ำหรืออุปกรณ์จำเป็นต่างๆ แม้เป้โครงในส่วนใหญ่จะไม่มีกระเป๋าด้านนอกมากนัก แต่เป้โครงในรุ่นใหม่ๆ ก็เริ่มมีการพัฒนาเพิ่มที่เก็บขวดน้ำด้านนอกตัวเป้ เช่น ทำกระเป๋าตาข่ายที่เป็นยางยืดไว้ด้านข้าง ซึ่งสามารถจะเก็บขวดน้ำเล็กๆ ไว้ได้ หรือบางรุ่นได้มีการพัฒนาให้มีที่เก็บน้ำติดกับตัวเป้ไว้เลย โดยเราสามารถจะดื่มน้ำได้จากหลอดที่ต่อท่อยาวออกมาจากที่เก็บน้ำนั้นได้ (คล้ายๆ กระเป๋าน้ำของนักปั่นจักรยานเสือภูเขา)

4.วิธีการจัดเป้ ก่อนอื่น เราควรจะคิดถึงสิ่งที่ควรจะเอาใส่เป้ไปด้วยเวลาไปเดินป่า ว่าควรจะมีอะไรไปบ้าง ซึ่งของใช้จำเป็นในการเดินป่าทุกครั้ง พอจะแบ่งออกได้ตามประเภทต่างๆ ดังนี้

* ถุงนอน
* เต็นท์หรือเปล
* เสื้อผ้า (ปกติเวลาเดินอยู่ในป่าเรามักจะต้องการแค่ชุดที่ใส่ตอนนอนอีกเพียงชุดเดียว ส่วนตอนกลางวันที่เดินป่าก็มักจะใส่ชุดเดิม แต่สำหรับบางคนที่ทนกลิ่นตัวเองไม่ไหว อาจจะเอาเสื้อสำรองเข้าไปเปลี่ยนในแต่ละวันด้วยก็ได้ – นอกจากนี้ ควรจะเตรียมชุดต่างหากอีกชุดเอาไว้ใส่ในวันกลับ)
* อาหาร อุปกรณ์ทำครัว และเชื้อเพลิง
* ของใช้ส่วนตัว เช่น แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สบู่ แชมพู ผ้าเช็ดตัว ผ้าถุง ผ้าขาวม้า และยาแก้แพ้ต่างๆ
* ของใช้อื่นๆ เช่น ไฟฉาย เสื้อกันฝน น้ำดื่ม ชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น เข็มทิศ ถุงพลาสติกหรือถุงดำใบใหญ่ๆ นกหวีด (มีประโยชน์มากในกรณีที่หลงทาง) และของขบเคี้ยวระหว่างทาง (ซึ่งส่วนใหญ่มักจะนิยมช็อกโกแล็ตหรือขนมที่ช่วยให้พลังงาน)
* อาหารสำรอง ซึ่งอาจจะเป็นขนมปังหรืออะไรเล็กๆ น้อยๆ แต่ไม่ให้รับประทานในขณะที่ยังอยู่ในป่า ควรจะเก็บเอาไว้จนถึงวันสุดท้ายของการเดินทาง ที่เราแน่ใจว่าจะกลับออกมาข้างนอกได้แล้ว เผื่อเอาไว้หากมีกรณีฉุกเฉินที่ทำให้ไม่สามารถออกจากป่าได้ตามที่กำหนดไว้ และอาหารที่เตรียมไปอาจจะหมดก่อนที่จะสามารถออกจากป่าได้ เช่น หลงป่า หรือมีน้ำป่าทำให้ต้องอยู่ในป่าเกินเวลาที่กำหนดไว้

เมื่อรู้ว่าควรจะนำอะไรติดตัวเข้าไปในป่าแล้ว เราก็มาดูวิธีการจัดเป้กันว่าควรจะวางอะไรไว้ตรงไหนบ้าง หลักการง่ายๆ อย่างแรกก็คือ วางของที่คิดว่าจะใช้ทีหลังสุดไว้ล่างสุด สำหรับนักเดินป่ามือใหม่ก็คงจะสงสัยว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าจะใช้อะไรตอนไหน ลองจินตนาการดูง่ายๆ โดยไล่ไปตั้งแต่เช้าจรดเย็น สิ่งที่เราจะใช้เป็นสิ่งสุดท้ายก็ควรจะเป็นถุงนอน เพราะกว่าจะนอนได้ก็ต้องเดินไปถึงจุดหมายที่ตั้งแค้มป์แล้ว ถุงนอนจึงเป็นสิ่งที่มักจะวางไว้ส่วนล่างสุดของเป้ และเป้โครงในรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ก็มักจะมีช่องแยกต่างหากไว้ให้เก็บถุงนอนไว้ ด้านล่างด้วยเช่นกัน

ข้อควรจำอีกอย่างสำหรับการเดินป่าในเมืองไทยคือ ทุกครั้งที่จัดของลงเป้ เพื่อความปลอดภัย เราควรจะใส่ของทุกอย่างในถุงพลาสติกอีกชั้นก่อนที่จะใส่ลงในเป้ เพราะสมัยนี้ เมืองไทยฝนตกแทบทั้งปี ไม่ว่าจะเดินป่าฤดูไหน หรือถึงแม้จะไม่มีฝนตก บางครั้งการเดินป่าก็จำเป็นจะต้องมีการเดินข้ามน้ำ หรือปีนป่ายตามน้ำตกบ้าง หรือแม้กระทั่งน้ำค้างในตอนเช้า การห่อหุ้มของใช้ต่างๆ ในถุงพลาสติกอีกชั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น และไม่ได้ทำให้น้ำหนักของกระเป๋าหนักขึ้นแต่อย่างใด ตรงกันข้าม หากไม่ได้ใส่ของต่างๆ ในถุงพลาสติกแล้ว เกิดกระเป๋าของเรามีอันเป็นไป แอบหนีไปนอนเล่นในน้ำ หรือมีฝนตกระหว่างเดิน ทั้งเป้ทั้งของในเป้ก็คงเปียกหมด ทีนี้ล่ะ คงจะได้น้ำหนักส่วนเกินเพิ่มขึ้นมาอย่างหลีกไม่ได้แน่นอน

อุปกรณ์ต่อมาก็คือ เต็นท์หรือเปลและฟรายชีท ซึ่งส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นถุงยาวๆ โดยปรกติเราจะนำเปลและฟรายชีทใส่รวมกันและนำมาวางไว้ในเป้ต่อจากเสื้อผ้า ส่วนเต๊นท์บางครั้งเราอาจจะแยกพวกโครงของเต๊นท์ออกมาและมัดเอาไว้ด้าน นอกกระเป๋า ซึ่งควรจะมัดให้สมดุลและแน่น ไม่โคลงเคลงไปมาทำให้เป็นอุปสรรคในการเดินได้

จากนั้นก็ควรจะเก็บอุปกรณ์ทำครัวต่างๆ เอาไว้ในบริเวณกลางเป้ และเป็นตำแหน่งที่ใกล้กับส่วนหลังของเรา โดยอาจจะหุ้มไว้ด้วยเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์เบาๆ อื่นๆ เพื่อป้องกันการกระแทกอีกด้วย เพราะการจัดเป้ที่ดีนั้น ควรจะวางของที่มีน้ำหนักมากไว้บริเวณที่ใกล้กับกลางหลังของเราหรือค่อนไปทาง ด้านบนของเป้ ซึ่งจะเป็นจุดที่รับน้ำหนักได้ดี และไม่ทำให้เสียการทรงตัวหรือกระเป๋าส่ายไปมาในระหว่างเดิน

ต่อมา ก็คือการเก็บอุปกรณ์ของใช้ส่วนตัวต่างๆ เช่น พวกเสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว สบู่ และแชมพู เป็นต้น ส่วนของใช้อื่นๆ นั้น อาจจะจำเป็นต้องหยิบขึ้นมาใช้ระหว่างการเดินทาง เช่น ไฟฉาย เสื้อกันฝน หรือชุดปฐมพยาบาล ควรจะเก็บไว้ด้านบนที่สามารถหยิบออกมาได้ง่าย เป้ส่วนใหญ่จะมีช่องเก็บของบริเวณฝากระเป๋าด้านบน จึงสามารถจะใส่ของจุกจิกพวกนี้ไว้ได้ สำหรับน้ำดื่ม ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นตลอดการเดินทาง ก็ควรจะแยกเก็บไว้ที่กระเป๋าด้านนอกหรือบริเวณที่สามารถหยิบออกมาได้ง่าย เช่นกัน

สำหรับขั้นตอนในการสะพายเป้ให้กระชับและคล่องตัวที่สุดนั้น สามารถทำได้ง่ายๆ โดยแรกสุดก่อนที่จะสะพายเป้ ก็ควรจะผ่อนสายรัดต่างๆ ออกให้หลวมเสียก่อน จากนั้นเมื่อสะพายเป้ขึ้นบ่าแล้ว จึงเริ่มจากการปรับสายรัดสะโพกให้กระชับพอดี ไม่หลวมหรือคับจนเกินไป แล้วจึงปรับสายของที่สะพายบ่า โดยดึงปลายสายลงพร้อมกันทั้งสองข้าง ให้รู้สึกว่ากระชับพอดี ไม่อึดอัด แล้วจึงดึงสายปรับระดับตัวเป้ที่เชื่อมระหว่างที่สะพายบ่ากับตัวเป้ทั้งสอง ข้างพร้อมกัน ให้กระชับเพื่อความคล่องตัวในเวลาเดิน เพียงเท่านี้ คุณก็จะสามารถเดินป่าได้อย่างมีความสุข ไม่ใช่การทรมานร่างกายเหมือนที่บางคนเคยประสบมา

5.การดูแลรักษาเป้ หากต้องการให้เป้ใบเก่งอยู่กับเรานานๆ เราควรจะรู้จักใช้เป้อย่างถูกวิธี และรู้จักดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ดังนี้

*
ของมีคมควรห่อให้มิดชิด
เพื่อป้องการเป้เสียหาย
เวลา ใช้งาน หากจะต้องใส่ของที่มีความคม เช่น มีด เตา หรืออุปกรณ์ทำครัว ก็ควรจะมีกล่องหรือถุงห่อหุ้มเอาไว้ให้มิดชิด มิฉะนั้น อุปกรณ์เหล่านั้นอาจจะทิ่มทะลุเป้ออกมาทำให้เกิดความเสียหายกับตัวเป้หรือ แม้กระทั่งทิ่มโดนตัวคุณเองด้วยก็ได้

* เมื่อกลับจากการเดินป่าทุกครั้ง ไม่ควรจะทิ้งถุงอาหารหรือเศษอาหารใดๆ ไว้ในเป้เป็นอันขาด เพราะจะทำให้เกิดกลิ่นเหม็นอับในเป้ และยังเป็นตัวเชิญชวนให้สัตว์ไม่พึงประสงค์เข้าไปอาศัยในเป้เราได้อีกด้วย

* ทำความสะอาดเป้ทุกครั้งหลังจากการใช้งานในแต่ละทริป โดยการเอาของออกจากช่องและกระเป๋าต่างๆ ให้หมด และสะบัดเพื่อให้เศษดิน เศษทราย หรือเศษขยะเล็กๆ น้อยๆ ต่างๆ หลุดออกมา หากเป้ของคุณสกปรกมากจริงๆ ก็อาจจะใช้ฟองน้ำชุบน้ำสบู่อ่อนๆ เช็ดทำความสะอาดได้ หลังจากนั้นก็ให้วางผึ่งลมเอาไว้จนแห้ง ไม่ควรจะวางตากแดดตรงๆ เพราะแสงแดดและรังสียูวีจะทำลายเนื้อผ้าไนล่อนได้ในเวลาอันสั้น

* คอยดูแลรักษาเป้อยู่เสมอ หากขาดที่ใดก็คอยเย็บซ่อมแซมให้ดีเหมือนเดิม และหากสายหรือเชือกไนล่อนหลุดลุ่ยในตอนปลายก็สามารถซ่อมได้โดยการเอาไฟลน ด้านปลาย

ชุดซ่อมแซมเป้ ชิ้นส่วนต่าง ๆ หากเสียหายสามารถเปลี่ยนได้


* หมั่นตรวจสอบเป้อยู่เสมอ ว่าในบริเวณที่ใช้งานหนักๆ เช่น บริเวณช่วงต่อของสายสะพายบ่ากับตัวเป้ทั้งด้านบนและด้านล่าง บริเวณช่วงต่อของสายรัดสะโพกกับตัวเป้ หรือบริเวณซิป มีปัญหาอะไรหรือไม่ หากเริ่มมีรอยขาดเพียงเล็กน้อยก็ควรจะรีบซ่อมแซมก่อนที่รอยขาดเหล่านั้นจะ บานปลาย เพราะจุดที่สำคัญต่างๆ เหล่านี้มามีปัญหาหรือขาดเอาตอนที่เราเดินอยู่กลางป่าก็คงจะเป็นเรื่องที่ ไม่น่าสนุกนัก

* เก็บเป้ไว้ในที่ๆ แห้ง ไม่โดนแดด และมีอากาศถ่ายเทที่ดี เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดราน้ำค้าง เพราะราพวกนี้จะทำลายสารกันน้ำที่เคลือบตัวเป้เอาไว้

ที่มา http://www.mrbackpacker.com/gear/gear_35.html

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น