การป้องกันแมลง

นักเดินป่าทุกคนคงจะเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับแมลงในป่า เช่น ยุง ผึ้ง ต่อ ฯลฯ แมลงเหล่านี้มักจะสร้างความรำคาญให้กับเราเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการกัด ต่อย หรือบินตอมสร้างความรำคาญ ลองคิดดูว่าหากไปแค้มปิ้งค์แล้วพบกับยุงเป็นจำนวนมาก เราก็คงจะนั่งหลบยุงในเต็นท์ แทนที่จะมานั่งคุยเฮฮากันในแค้มป์ ซึ่งแมลงแต่ละแบบนั้นก็จะมีพิษในตัวซึ่งจะส่งผลให้เราเกิดอาการแพ้ เช่น ถ้ายุงกันก็จะเกิดอาการคัน ผึ้งต่อยพิษของเหล็กในก็จะทำให้แผลเราปวด บวม เป็นต้น แต่ใช่ว่าเราจะไม่มีวิธีป้องกันแมลงเหล่านี้ ในปัจจุบันได้มีผลิตภัณฑ์ป้องกันแมลงออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็สามารถช่วยป้องกันแมลงได้ดีทีเดียว

แต่ก็ใช่ว่าทุก ๆ ที่จะมีแมลงเหล่านี้เสมอไป บางภูมิประเทศที่มีลมแรง อากาศหนาวจัด ก็อาจจะไม่มีแมลงมาคอยรบกวนเราก็ได้ แต่ทางที่ดีเราก็ควรจะหาทางป้องกันเอาไว้ก่อน เท่าที่กล่าวมาหลายคนอาจจะคิดว่าแมลงเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ แต่ถ้ามองในอีกด้านหนึ่ง แมลงนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ ซึ่งเป็นห่วงโซ่อาหารของสัตว์ที่กินแมลงเช่น นก ปลา เป็นต้น ถ้าหากขาดแมลงไปก็จะทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ได้

แมลงพบเราได้อย่างไร

บางครั้งเราก็จะพบว่าไม่ได้โดนแมลงเหล่านี้มาสร้างความรำคาญ ให้สักเท่าใดนัก แต่กับบางคนก็จะโดนแมลงเหล่านี้กัดต่อเสมอ แล้วแมลงจะเลือกอย่างไรว่าจะไปกัดใคร แมลงเหล่านี้ได้ทำการหาเหยื่อจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งก๊าซเหล่านี้จะมาจากการหายใจของมนุษย์ ผิวหนัง และเลือด ซึ่งแมลงจะมีสัมผัสไวต่อก๊าซชนิดนี้ ฉะนั้นหากใครที่คายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามาก ก็อาจจะตกเป็นเหยื่ออันโอชะของแมลงเหล่านี้

ผลิตภัณฑ์ป้องกันแมลง

วิธีการป้องกันแมลงคือใช้ยาที่มีขายกันทั่วไป ซึ่งยาป้องกันแมลงจะสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ประเภทใช้สารสังเคราะห์ กับประเภทที่ใช้สารจากธรรมชาติ

ประเภทใช้สารสังเคราะห์

สารสังเคราะห์ที่นิยมใช้เพื่อป้องกันแมลงคือ สาร N-diethly-meta-toluamide หรือมักจะเรียกกันย่อ ๆ ว่า DEET สารชนิดนี้เป็นสารที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันแมลงได้ดีที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งตามปรกติเรมักจะผสมสารนี้ในอัตราความเข้มข้น 4-100% ขึ้นกับชนิดของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ ซึ่ง DEET จะมีคุณสมบัติที่จะดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้แมลงไม่สามารถตรวจจับเราได้

สารสังเคราะห์นี้จะสามารถผสมให้อยู่ในรูปของของเหลวที่ใช้ทา เป็นครีม โลชั่น สเปรย์ ฯลฯ ได้หลากหลายรูปแบบ โดยปรกติผลิตภัณฑ์ทั่วไปจะมีความเข้มข้นอยู่ที่ 20-35% ก็เพียงพอกับการป้องกันแมลงแล้ว หากมีความเข้มข้นมากกว่านี้ก็มักจะนิยมใช้การทางการแพทย์ แต่การใช้สังเคราะห์นั้นถึงจะมีความสามารถกันยุงได้ดีเยี่ยมแต่ก็มีข้อเสีย เช่นกันคือ อาจจะเกิดอาการแพ้ได้ ซึ่งเราควรจะลองใช้สักเล็กน้อยดูก่อน และไม่ควรทาในบริเวณผิวหนังที่บอบบาง เช่น บริเวณใบหน้า ยกเว้นแต่ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ จะมีความเข้มข้นน้อยสามารถทาบนผิวที่บอบบางได้ ซึ่งเราสามารถอ่านคำแนะนำได้ในฉลากของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ และข้อควรจำของการใช้สารสังเคราะห์นี้คือ ไม่ควรนำไปใกล้ไฟ เพราะสารมีคุณสมบัติติดไฟ และไม่ควรนำไปใช้กับพลาสติก ไนลอน เส้นใยสังเคราะห์ เพราะว่าสารนี้อาจจะไปทำลายวัสดุประเภทนี้ได้ ซึ่งอุปกรณ์แค้มปิ้งค์หลายชิ้นจะทำจากวัสดุที่กล่าวมา เช่น เป้อาจจะมีใยสังเคราะห์ เต็นท์หรือเปลที่ทำจากผ้าไนลอน หรือวัสดุอื่นๆ เราจึงควรหลีกเลี่ยวการใช้สารชนิดนี้กับอุปกรณ์เหล่านี้ สำหรับยากันแมลงที่ขายในบ้านเราหลายยี่ห้อก็มีผสมสารชนิดนี้อยู่ เช่น ก.ย. มีส่วนผสม DEET เข้มข้น 24% เป็นต้น

ประเภทใช้สารจากธรรมชาติ

สารที่ได้จากพืชบางชนิดก็มีคุณสมบัติป้องกันแมลงได้เช่นกัน แต่การป้องกันอาจจะสู้ประเภทสังเคราะห์ไม่ได้ หากเรามีอาการแพ้กับสารที่สังเคราะห์ การใช้สารจากธรรมชาติก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ในบ้านเราก็มียาป้องกันแมลงที่ทำจากสารธรรมชาติเช่นกัน ที่นิยมใช้กันมากก็จะเป็นตะไคร้หอม แต่นอกจากตะไคร้หอมแล้ว ยังมีพืชอีกหลายชนิดที่มีคุณสมบัติป้องกันแมลง เช่น น้ำมันจากพืชบางชนิด ตะบองเพชรบางชนิด เป็นต้น ซึ่งพืชหลายอย่างไม่มีในบ้านเรา จึงไม่ได้มีทำออกมาจำหน่าย แต่ก็อาจจะหาได้บ้างตามร้านที่นำผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศมาขาย

รู้จักกับแมลงเบื้องต้น

แมลงที่มักจะมารบกวนเราอยู่บ่อย ๆ จะมีไม่กี่ชนิด เช่น ยุง เห็บ ผึ้ง ต่อ เป็นต้น ซึ่งแมลงเหล่านี้จะพบได้บ่อย แต่ก็มีแมลงบางประเภทที่มีพิษร้ายแรงกว่าชนิดที่ได้กล่าวมา แต่มักจะไม่พบบ่อยนัก เช่น ตะขาย แมงป่อง แมงมุม ฯลฯ แมลงเหล่านี้เรามักจะไปเจอโดยบังเอิญมากกว่า หากเจอก็ควรจะหลีกเลี่ยง เราลองมารู้จักรายละเอียดเบื้องต้นของแมลงที่พบกันบ่อย ๆ กัน

ยุง
แหล่งที่อยู่ : บริเวณน้ำนิ่ง ในป่าที่มีหนองบึง บริเวณที่ไม่มีลมแรง
เวลาออกหากิน : ช่วงบ่ายแก่ ๆ หัวค่ำ และตอนกลางคืน
ดึงดูดโดย : คาร์บอนไดออกไซด์ ความร้อนจากร่างกาย กรดแลคติค (Lactic Acid) เหงื่อ กลิ่น
ไม่ดึงดูดโดย : สีสว่าง ๆ
ข้อมูลเบื้องต้น : ยุงจะเป็นพาหะในการนำโรคได้หลายชนิด เช่น ไข้มาลาเรีย ไข้เลือดออกเป็นต้น หากโดนกัดจะมีอาการคัน เพศผู้จะกินน้ำหวานจากดอกไม้เป็นอาหาร ส่วนเพศเมียจะกินเลือดจากสัตว์ต่าง ๆ ยุงที่คอยมากัดเรานั้นจะเป็นตัวเมีย เป็นสัตว์ที่พบได้โดยทั่วไป ตัวอ่อนของยุงหรือลูกน้ำมักจะนำไปเป็นอาหารปลา

หมัด เห็บ
แหล่งที่อยู่ : ป่า ป่าหญ้า บริเวณที่มีหนองบึง
เวลาออกหากิน : ตลอดเวลา
ดึงดูดโดย : -
ไม่ดึงดูดโดย : สีสว่าง ๆ
ข้อมูลเบื้องต้น : เป็นแมลงที่มีขนาดเล็กถึงเล็กมาก ตัวจะมีลักษณะกลม กินเลือดเป็นอาหาร เห็บหรือหมัดมักจะรอให้สัตว์หรือมนุษย์ผ่านมาและลอยไปเกาะ ซึ่งผู้ที่โดนกัดมักจะมีอาการแพ้ เห็บบางชนิดนั้นมีพิษร้ายแรงเมื่อโดนกัดแล้วแผลจะเป็นสะเก็ดแล้วไม่ยอมหาย ต้องใช้เวลานานกว่าแผลจะหาย

ผึ้ง ต่อ
แหล่งที่อยู่ : ทำรังอยู่บนต้นไม้หรือตามช่องต้นไม้
เวลาออกหากิน : กลางวัน
ดึงดูดโดย : สีสว่าง กลิ่นออกหวานๆ การเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว
ไม่ดึงดูดโดย : สีขาวและสีธรรมชาติ
ข้อมูลเบื้องต้น : ผึ้งและต่อจะมีสีเหลืองดำ มีเหล็กในที่ใช้ป้องกันตัว อาหารของผึ้งจะเป็นน้ำหวานจากดอกไม้ ส่วนตัวต่อนั้นจะกินแมลงขนาดเล็กเป็นอาหาร เช่น แมงมุม แมลงประเภทนี้จะป้องกันตัวโดยใช้เหล็กใน ซึ่งอยู่บริเวณปลายของลำตัว หากโดนต่อยจะมีอาการปวด บวม ซึ่งพิษของต่อจะร้ายแรงกว่าผึ้งหากโดนต่อบางชนิดต่อยหลาย ๆ ตัวอาจจะถึงตายได้ ตามปรกติผึ้งและต่อมักจะไม่เข้ามาทำร้ายเรา แต่จะมาตอมหรือเกาะเท่านั้น หากเราไม่ทำอะไรหรือไม่เผอิญทำให้มันตกใจมันก็มักจะไม่ทำอะไร

วิธีป้องกันแมลง

* หลีกเลี่ยงสารโพแทสเซียมและโซเดียม – สารเหล่านี้จะพบมากในอาหารที่เค็ม เช่น เกลือและน้ำปลา ซึ่งจะมีคุณสมบัติทำให้ร่างกายเกิดการเผาผลาญที่สมดุล หากเราได้รับสารพวกนี้มากเกินไป จะมีผลทำให้ร่างกายเกิดการเร่งการเผาผลาญส่งผลทำให้ร่างกายขับก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ออกมามากกว่าปรกติ ซึ่งสารนี้จะช่วยดึงดูดแมลงให้เข้ามา
* หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นแรง – น้ำหอม น้ำยาดับกลิ่น สบู่ แชมพู ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะทำให้ร่างกายคุณมีกลิ่นติดตัว ซึ่งจะเป็นที่ดึงดูดแมลง และอาจจะทำให้สัตว์ป่าบริเวณนั้นตกใจและไม่มาหากินบริเวณนั้น ถึงแม้ว่าเราจะย้ายที่พักแรมไปแล้วก็ตาม
* ใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว – การใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ถุงเท้า เพื่อปกป้องผิวหนัง จะมีส่วนช่วยในการป้องกันแมลงมากัดเราได้มากขึ้น
* ใส่เสื้อผ้าสีอ่อน – เสื้อผ้าสีเข้มมักจะดึงดูดแมลงมากกว่าเสื้อผ้าสีอ่อน เราจึงควรสวมเสื้อผ้าสีอ่อนเพื่อเป็นการป้องกันแมลงอีกทางหนึ่ง
* ใช้ยากันแมลง – การใช้ยาป้องกันแมลงเป็นวิธีที่จะช่วยเราป้องกันแมลงได้อย่างดี ยาป้องกันแมลงจะสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ ประเภทที่มีส่วนผสมของสารสังเคราะห์ และประเภทที่มาจากสารสกัดจากธรรมชาติ
* การป้องกันแมลงในค่ายพักแรม – เราสามารถใช้ยาป้องกันแมลงฉีดพ่น ไปยังบริเวณมุ้งของเต็นท์หรือเปลได้ แต่ไม่ควรฉีดโดยตรงไปยังอุปกรณ์นั้น เพราะยาป้องกันแมลงจะไปทำลายผ้าไนลอน และอย่าลืมปิดซิปให้เรียบร้อยตลอดเวลา เพื่อไม่ให้แมลงเข้าเต็นท์
* ก่อไฟเพื่อไล่แมลง – ควันไฟจะมีส่วนช่วยในการไล่แมลงได้ หากบริเวณนั้น ๆ มีแมลงมาก ก็อาจจะก่อไฟกองเล็ก ๆ เพื่อไล่แมลงเหล่านั้น
* พกยารักษาแมลงกัดต่อยไปด้วย – เราไม่สามารถป้องกันแมลงได้ 100% ฉะนั้นก็อาจจะมีบ้างที่โดนแมลงกัด เราจึงควรจะพกยาทาสำหรับรักษาแผลแมลงกัดต่อยไว้ใช้ด้วย

ที่มา http://www.mrbackpacker.com

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น