การดูแลรักษารองเท้า

ในที่สุด คุณก็ได้รองเท้าคู่ที่เหมาะกับเท้าของคุณแล้ว แต่อย่าลืมว่ากว่าจะหารองเท้าคู่นี้ได้ คุณต้องใช้เวลานานแค่ไหน และราคาของมันก็ไม่ได้ถูกเลย เพราะฉะนั้น ถ้าคุณรู้จักดูแลรักษารองเท้าของคุณอย่างถูกวิธีแล้ว คุณก็จะใช้รองเท้าคู่ใจได้อย่างคุ้มค่านานหลายปี หรือบางครั้งอาจจะเป็นสิบปีเลยก็ว่าได้

* เคลือบผิวรองเท้าเพื่อกันน้ำ

หลังจากที่คุณซื้อรองเท้าเดินป่าได้แล้ว สิ่งแรกที่ควรจะต้องทำก็คือเคลือบผิวรองเท้าของคุณเพื่อให้กันน้ำได้ ถ้ารองเท้าของคุณทำจากหนังแท้ทั้งหมด ให้ใช้น้ำยาเคลือบผิวที่มีน้ำมันเป็นส่วนผสมหลัก (oil based waterproof product) ในการทาเคลือบผิวรองเท้า ห้ามใช้แว็กซ์หรือซิลิโคนโดยเด็ดขาด เพราะสารสองตัวนี้จะทำให้อายุการใช้งานของหนังสั้นลง โดยบริเวณที่ควรจะใส่ใจและทาน้ำยาเคลือบผิวมากเป็นพิเศษก็คือตามตะเข็บต่างๆ และพื้นรองเท้า แต่ถ้ารองเท้าของคุณทำจากวัสดุสังเคราะห์ ให้ใช้น้ำยาเคลือบผิวที่มีซิลิโคนเป็นส่วนผสมหลัก (silicone based waterproof product) อย่าใช้น้ำยาที่มีน้ำมันเป็นส่วนผสมหลักกับรองเท้าที่ทำจากวัสดุสังเคราะห์ เพราะน้ำมันจะทำให้วัสดุสังเคราะห์เกิดความเสียหายได้ และคุณก็ควรจะเคลือบผิวบริเวณพื้นรองเท้าและตะเข็บต่างๆ มากเป็นพิเศษเช่นกัน แต่ถ้าหากรองเท้าของคุณทำจากทั้งวัสดุสังเคราะห์และวัสดุธรรมชาติ คุณควรจะทำตามคำแนะนำของผู้ผลิตเท่านั้น

* อุ่นเครื่องก่อนการใช้งานจริง

คุณไม่ควรที่จะใช้รองเท้าที่เพิ่งซื้อมาใหม่ครั้งแรกในการเดิน ป่าจริงโดยที่ยังไม่ได้ผ่านการอุ่นเครื่องอย่างเด็ดขาด ก่อนที่จะใช้รองเท้าคู่ใหม่นี้ในการเดินป่าจริง คุณควรจะลองใส่เดินรอบๆ บ้าน ใส่ไปเดินเที่ยวช็อปปิ้ง หรือใส่ไปเดินเล่นที่ไหนก่อนก็ได้ เพื่อให้รองเท้าของคุณได้มีโอกาสยืดหยุ่น และให้ความรู้สึกนุ่มสบายเท้ามากขึ้นเช่นกัน ไม่มีใครเคยกำหนดระยะเวลาหรือระยะทางที่แน่นอนสำหรับการอุ่นเครื่องรองเท้า เชื่อเท้าของคุณเองจะดีที่สุด คุณควรจะลองใส่จนกว่าเท้าของคุณจะรู้สึกสบายและชินกับรองเท้าคู่ใหม่ก่อน แล้วจึงจะใส่เดินป่าจริง แต่ก็นั่นแหละ ถ้าคุณลองใส่มันนานมากแล้วหรือลองเดินมาเป็นสิบๆ กิโลแล้ว ก็ยังไม่รู้สึกสบายสักทีคุณก็อาจจะต้องคิดใหม่แล้วล่ะว่ารองเท้าคู่นี้มัน เหมาะกับเท้าคุณจริงๆ หรือเปล่า

* ดูแลรักษารองเท้าให้สะอาดอยู่เสมอ

ตอนที่คุณซื้อรองเท้านั้น ก่อนจะออกจากร้าน นอกจากจะซื้อน้ำยาเคลือบผิวรองเท้ามาด้วยแล้ว อย่าลืมซื้อน้ำยาทำความสะอาดรองเท้าติดมือมาด้วยเช่นกัน ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดรองเท้าหลากหลายยี่ห้อมาก และบางอย่างก็สามารถใช้ได้กับทั้งรองเท้าที่ทำจากหนังแท้และรองเท้าที่ทำจาก วัสดุสังเคราะห์ ขั้นตอนการทำความสะอาดรองเท้าหลังจากใช้ในการเดินป่าก็ไม่มีอะไรซับซ้อนมาก ประการแรกก็คือคุณควรจะเอาฝุ่นและเศษดินต่างๆ ออกจากพื้นรองเท้าให้หมดด้วยวิธีง่ายๆ เช่นการเคาะหรือกระแทกรองเท้าสองข้างด้วยกัน จากนั้นจึงใช้แปรงปัดเศษดินหรือฝุ่นที่ยังหลงเหลืออยู่ออก หรือถ้ายังออกไม่หมด อาจจะต้องใช้ผ้าชุบน้ำบิดให้แห้งๆ เช็ดฝุ่นที่หลงเหลืออยู่ออกอีกครั้ง แต่ระวังอย่าให้ผ้าเปียกจนเกินไปจนทำให้รองเท้าเปียกได้ จากนั้นจึงใช้น้ำยาทำความสะอาดที่ซื้อมาทำความสะอาดรองเท้าตามคำแนะนำข้าง ขวดน้ำยานั้นๆ เมื่อเสร็จขั้นตอนเหล่านี้แล้ว รอทิ้งไว้จนกว่ารองเท้าของคุณจะแห้งสนิท จากนั้นจึงควรจะเคลือบผิวรองเท้าเพื่อกันน้ำอีกครั้ง

* ห้ามใช้ความร้อนช่วยทำให้รองเท้าแห้ง


ไม่ควรทำให้รองเท้าแห้งโดยการใช้วิธีตากรองเท้าข้างกองไฟ หรือใช้เครื่องช่วยเป่าให้แห้ง (เช่น เครื่องเป่าผม) เพราะความร้อนเหล่านั้นจะทำลายวัสดุที่ทำรองเท้าและมีผลต่อประสิทธิภาพของ รองเท้าอีกด้วย นอกจากนี้ การสัมผัสกับความร้อนโดยตรงแบบนี้จะทำให้ยางหรือสารที่เชื่อมระหว่างพื้น รองเท้ากับตัวรองเท้าละลายได้อีกเช่นกัน หากรองเท้าเดินป่าของคุณเปียก ควรจะวางผึ่งลมธรรมชาติไว้ในที่แห้งๆ หากรองเท้ามีกลิ่นก็อาจจะกำจัดกลิ่นโดยใช้เบคกิ้งโซดาหรือผงสำหรับโรยเท้าก็ ได้ และเมื่อรองเท้าแห้งดีแล้วจึงทำความสะอาดและเคลือบผิวกันน้ำตามขั้นตอนที่ ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น

* อย่าปล่อยรองเท้าทิ้งเอาไว้โดยไม่ใช้นานๆ

หากคุณไม่ค่อยได้เดินป่าบ่อยนัก ก็อย่าทิ้งรองเท้าเอาไว้โดยไม่ใส่เป็นเวลานานๆ ควรจะเอาออกมาใส่เดินเล่นหรือใส่ไปไหนมาไหนบ้างให้เป็นประจำเพื่อให้รองเท้า ยังคงความยืดหยุ่นและสะดวกสบาย ไม่แข็งเกินไป การเอารองเท้าออกมาใส่อย่างสม่ำเสมอจะทำให้พื้นรองเท้ายังคงความนุ่มเท้าและ รองเท้าด้านบนยังคงความสะดวกสบายสำหรับเท้าอยู่ตลอดเวลา และไม่เกิดปัญหาเวลาที่จะเอาไปใช้เดินป่าจริง

* อย่าใส่รองเท้าเดินโดยไม่ผูกเชือกรองเท้า

เมื่อเวลาเราไปถึงแค้มป์หลังจากที่เดินขึ้นเขามาทั้งวันแล้ว บางครั้งหากเราลืมเอารองเท้าแตะไป หลายคนก็อาจจะใส่รองเท้าเดินป่าเดินไปมาโดยไม่ผูกเชือกรองเท้า แต่ความจริงแล้ว การเดินใส่รองเท้าเดินป่าโดยไม่ผูกเชือกรองเท้าจะทำให้รองเท้าเกิดการสึกหรอ ได้ง่ายขึ้นโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะบริเวณที่บุด้านในของรองเท้าและยังทำให้เชือกรองเท้าขาดได้ง่ายขึ้น อีกด้วย ทางที่ดีควรจะนำรองเท้าแตะไปไว้เปลี่ยนเวลาเดินอยู่ที่แค้มป์หลังจากเดินมา แล้วทั้งวันจะดีที่สุดและเป็นการผ่อนคลายเท้าของคุณด้วยเช่นกัน

thank http://www.mrbackpacker.com/gear/gear_23.html

วิธีการเลือกซื้อรองเท้าเดินป่า

เวลาที่เราไปซื้อรองเท้ามักจะมีคนแนะเราว่า ยี่ห้อนี้ก็ดี ยี่ห้อนั้นก็น่าสน แล้วเราจะซื้อรองเท้ายี่ห้อไหนดีล่ะ จริงๆ แล้วคำถามที่ว่า “เราควรจะซื้อรองเท้ายี่ห้อไหนดี” เป็นคำถามที่ไม่ค่อยถูกต้องนัก รองเท้าที่ดีนั้นไม่ควรขึ้นกับยี่ห้อ แต่ควรจะขึ้นกับเท้าของเรามากกว่าว่า รองเท้าคู่ไหนเหมาะกับเท้าเรามากที่สุด หากรองเท้าคู่นั้นไม่เหมาะกับเท้าคุณ ก็ไม่ควรจะซื้อ รองเท้ายี่ห้อหนึ่งอาจจะดีสำหรับเพื่อนคุณ แต่อาจจะใส่ไม่สบายและไม่เหมาะสำหรับคุณก็ได้

แล้วทำไมรองเท้าที่เหมาะกับเพื่อนคุณไม่เหมาะกับคุณล่ะ สาเหตุเป็นเพราะว่ารองเท้าแต่ละแบบแต่ละยี่ห้อจะมีการออกแบบไม่เหมือนกัน เช่น รองเท้าที่ผลิตสำหรับคนยุโรปก็จะมีการวิจัยถึงรูปเท้าของชาวยุโรปและมีการ ออกแบบให้เหมาะกับเท้าลักษณะนั้นๆ หากชาวเอเชียนำรองเท้าลักษณะนี้มาใส่ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะใส่ไม่สบาย เพราะรูปทรงของเท้าไม่เหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารองเท้าแบบนี้จะใช้ไม่ได้ซะทีเดียว เพราะรูปร่างของเท้าก็จะมีความแตกต่างกันระหว่างตัวบุคคลด้วย คำถามหลักของคนที่จะเลือกซื้อรองเท้าจะมีอยู่ 2 คำถามคือ รองเท้าคู่ไหนเหมาะกับเท้าเรามากที่สุด และเราจะไปหารองเท้าคู่นั้นได้ที่ไหน

คำถามข้อแรกนั้นไม่มีใครสามารถตอบได้ดีเท่าเท้าของเราเอง ในการซื้อรองเท้าต่างประเทศนั้นเขามักจะมีการประกันความพอใจ โดยให้เรานำรองเท้าไปใส่ที่บ้านก่อนได้ หากไม่พอใจก็สามารถนำรองเท้าในสภาพใหม่มาคืนที่ร้าน ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถเลือกรองเท้าที่เหมาะกับคุณได้ แต่น่าเสียดายในบ้านเรามักจะไม่มีวิธีการแบบนี้ ถ้าซื้อไปแล้วเกิดใส่ไม่สบายก็ไม่สามารถนำไปเปลี่ยนได้ ฉะนั้นเราจึงควรจะลองใส่รองเท้าที่ร้านให้แน่ใจก่อนที่จะซื้อ ซึ่งพอจะมีคำแนะนำสำหรับการเลือกรองเท้าดังนี้

การทดสอบรองเท้าในร้านค้า

ก่อน ที่จะซื้อรองเท้าคุณควรจะเดินเลือกดูรองเท้าในแบบที่คุณชอบก่อน เมื่อได้แบบที่คุณชอบหรือถูกใจแล้ว ก็บอกให้พนักงานนำรองเท้ามาให้คุณลอง 1 คู่ ซึ่งในการลองรองเท้านั้นคุณควรจะนำถุงเท้าไปด้วย 2 คู่ คือคู่หนาหนึ่งคู่ และคู่ที่บางกว่าอีกหนึ่งคู่ เพื่อใส่ลองกับรองเท้า หากคุณไม่ได้นำถุงเท้ามา ลองบอกพนักงานให้นำถุงเท้ามาให้คุณก็ได้ ซึ่งตามปรกติตามร้านจะมีถุงเท้าให้คุณลองอยู่แล้ว นอกจากนี้ คุณควรจะให้พนักงานวัดเบอร์รองเท้าให้คุณทุกครั้ง หลายๆ คนอาจจะคิดว่าเรารู้อยู่แล้วว่าเราใส่รองเท้าเบอร์อะไร แต่ในความเป็นจริง ถึงแม้จะเป็นเบอร์เดิมที่เราใส่ประจำ แต่ก็ใช่ว่าจะมีขนาดเท่ากันทุกยี่ห้อ ทุกรุ่น หรือทุกแบบ บางครั้งแต่ละรุ่นแต่ละแบบก็อาจจะมีความกว้างหรือความยาวต่างกันบ้างเล็ก น้อยแล้วแต่ผู้ผลิต ซึ่งทางที่ดีแล้วคุณควรจะวัดขนาดเท้าก่อนจะซื้อทุกครั้ง

การทดสอบโดยนิ้ว

ประการแรก คุณควรจะลองใส่ถุงเท้าก่อนจะสวมรองเท้า แล้วลองเลื่อนเท้าเข้าไปด้านในสุดเท่าที่เท้าคุณจะเข้าไปได้ แล้วลองเอานิ้วชี้สอดเข้าไปหลังรองเท้า รองเท้าที่เหมาะสมควรจะมีที่ว่างสำหรับนิ้วของคุณที่จะสอดเข้าไปได้ ถ้าคุณไม่สามารถสอดนิ้วชี้ลงไปหลังรองเท้าได้ก็ควรจะลองรองเท้าขนาดใหญ่ขึ้น อีกนิด หรือหากพื้นที่มีขนาดมากเกินไปก็ควรใช้รองเท้าขนาดเล็กลง พื้นที่ส่วนนี้เวลาคุณใส่รองเท้าและผูกเชือกรองเท้าแล้ว คุณก็จะเหลือที่ว่างด้านหน้าเล็กน้อยสำหรับนิ้วเท้าของคุณ ช่องว่างนี้จำเป็นสำหรับการลงเขา ซึ่งจะช่วยให้เท้าไม่จิกและกระแทกกับหัวรองเท้า ซึ่งจะทำให้เท้าเจ็บและนิ้วเท้าช้ำได้ง่ายๆ หรืออาจจะถึงขั้นต้องถอดเล็บได้

การทดสอบจากการสัมผัสโดยเท้าเปล่า

การทดสอบวิธีนี้ เริ่มจากการลองรองเท้าแบบเท้าเปล่า ลองใช้เท้าของคุณเองสัมผัสกับด้านในของรองเท้า และรับรู้ความรู้สึกโดยตรงจากเท้าเปล่าของคุณ ว่ารู้สึกสบายหรือไม่ รองเท้าบางประเภทอาจจะมีการออกแบบที่ทำให้บริเวณนิ้วเท้าแคบกว่าปกติหรือยืด นิ้วเท้าได้ไม่เต็มที่เวลาสวมใส่ ซึ่งอาจจะทำให้นิ้วเท้าของคุณต้องงออยู่ตลอดเวลาโดยที่คุณไม่ทันรู้สึกตัว หรือรองเท้าบางคู่อาจจะมีพื้นรองเท้าบริเวณกลางฝ่าเท้าที่นูนโค้งขึ้นมา มากกว่าปกติ ซึ่งอาจจะทำให้คุณเมื่อยเท้ามากหลังจากการเดินป่านานๆ เหมือนต้องเดินเท้าโก่งตลอดเวลา ซึ่งความรู้สึกหรือจุดสังเกตเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ คุณอาจจะไม่ทันสังเกตหรือรู้สึกถ้าคุณกำลังใส่ถุงเท้าเดินป่าซึ่งมักจะหนา กว่าถุงเท้าปกติ ดังนั้น การลองรองเท้าโดยใช้เท้าเปล่าก็จะช่วยขจัดปัญหาเหล่านี้ไปได้ และเมื่อคุณพบรองเท้าที่ถูกใจหลังจากการทดสอบโดยใช้เท้าเปล่าแล้ว จึงควรจะลองอีกครั้งโดยใส่ถุงเท้าเพื่อดูว่ารองเท้าคู่ที่คุณเลือกนั้นให้ ความรู้สึกสบายเท้าเวลาใส่ถุงเท้าด้วยหรือไม่ หากคับหรือหลวมไปก็ควรจะลองถุงเท้าคู่ที่หนาขึ้นหรือบางลงเล็กน้อย แต่หากยังไม่พอดี คุณก็ควรจะเปลี่ยนไปลองรองเท้าเบอร์อื่นจะดีกว่า

การเดินทดสอบ

เมื่อเลือกรองเท้าได้แล้ว สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือต้องลองเดินดูด้วย ไม่ใช่แค่เดินไปเดินมาธรรมดา เพราะนี่คือรองเท้าที่คุณจะใช้เดินป่าซึ่งไม่ใช่การเดินทางราบเหมือนเดินบน ถนนในเมือง หากในร้านมีทางเดินที่ลาดเอียงก็ควรจะลองเดินขึ้นเดินลงตามทางนั้น หรือหากไม่มี มีคนแนะนำว่าให้คุณลองกระโดดหรือก้าวขึ้นลงเก้าอี้ที่นั่งดูก็ได้ (โชคดีที่รองเท้าสำหรับเดินป่าส่วนใหญ่จะไม่ได้ขายตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป หรือร้านขายรองเท้าธรรมดา ส่วนมากจะขายตามร้านที่ขายอุปกรณ์เดินป่าโดยเฉพาะ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกลัวหรืออายว่าชาวบ้านจะมองคุณว่าแปลกหรอก  ) เมื่อคุณลองก้าวหรือกระโดดขึ้นลงเก้าอี้หรือม้านั่งแล้ว สิ่งที่คุณจำเป็นจะต้องสังเกตก็คือว่า เวลาคุณก้าวขาขึ้นนั้น ส้นเท้าคุณลอยขึ้นมากไปหรือเปล่า หรือเวลาคุณกระโดดลงพื้น คุณรู้สึกเจ็บนิ้วเท้าหรือรู้สึกว่านิ้วเท้ากระแทกกับรองเท้ามากหรือเปล่า ถ้าใช่ คุณก็ควรจะลองผูกเชือกรองเท้าใหม่ ให้หลวมหรือแน่นกว่าเดิมแล้วลองดูอีกครั้ง หากยังรู้สึกแบบเดิม ก็ควรจะเปลี่ยนขนาดหรือเปลี่ยนแบบรองเท้าไปเลย หรือหากคุณลองหมดทั้งร้านแล้วยังไม่พบคู่ที่ถูกใจและสบายเท้าแล้วละก็ ลองเปลี่ยนไปหาร้านอื่นจะดีกว่า อย่ายึดติดกับยี่ห้อหรือรุ่นใดรุ่นหนึ่งมากเป็นพิเศษ เพียงเพราะว่ามันดังหรือเพื่อนๆ คุณใส่ยี่ห้อนี้กันหมด รองเท้าเดินป่าดีๆ สักคู่หนึ่งไม่ใช่ถูกๆ เลย เพราะฉะนั้น คุณควรจะใช้เวลาพิถีพิถันในการเลือกสักหน่อย เลือกรองเท้าที่สบายที่สุดสำหรับเท้าของคุณและคุ้มกับเงินในกระเป๋าตังค์ของ คุณด้วยจะดีกว่านะ

การทดสอบที่บ้าน

การทดสอบโดยการตัดกระดาษ

หลังจากที่ คุณกลับบ้านมาพร้อมกับรองเท้าคู่ใหม่แล้ว วิธีการทดสอบอีกวิธีหนึ่งก็คือ ลองใส่ถุงเท้าคู่ที่คุณจะใช้สำหรับการเดินป่า แล้ววางเท้าบนกระดาษหนึ่งแผ่น ลองวาดรูปแบบเท้าของคุณลงบนกระดาษและตัดกระดาษตามรูปเท้าของคุณ จากนั้นจึงเอาแบบเท้าที่ตัดแล้วสอดเข้าไปรองเท้าคู่ใหม่ของคุณให้พอดีทุกซอก ทุกมุม เสร็จแล้วดึงกระดาษแบบเท้าของคุณออกมา สังเกตดูว่ามีกระดาษบริเวณใดบ้างที่ยับหรือไม่เรียบ ซึ่งบริเวณที่ไม่เรียบเหล่านั้นแสดงให้เห็นว่ารองเท้าของคุณคับบริเวณใดบ้าง หากเป็นการยับเพียงเล็กน้อยก็ไม่จำเป็นต้องกังวลมาก แต่หากรอยยับนั้นกว้างกว่าครึ่งนิ้วอาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาได้ในภาย หลังเวลาที่คุณเดินป่า

การเดินทดสอบนาน ๆ

ขั้นตอนการทดสอบต่อไปก็คือลองสวมรองเท้าคู่ใหม่นี้แล้วเดิน รอบๆ บ้าน หรืออาจจะลองใส่ไปเดินเล่นตามห้างสรรพสินค้า ในเมือง หรือในสวนสาธารณะดูเลยก็ยิ่งดี ลองเดินในหลายๆ สถานที่และเดินให้นานกว่าตอนลองรองเท้าในร้าน หากคุณเดินได้อย่างสบายเท้า ไม่รู้สึกเมื่อยหรือปวดเท้าเลย แสดงว่าคุณโชคดีมาก ที่สามารถหารองเท้าที่เหมาะกับเท้าของคุณได้แล้ว แต่หากไม่เป็นอย่างนั้นล่ะก็ คุณก็ไม่ควรฝืนหลอกตัวเองว่ารองเท้าคู่นี้ใส่สบาย

การทดสอบในสถานการณ์จริง

การทำให้ชินกับรองเท้า

เวลาเราซื้อรถยนต์คันใหม่ สิ่งสำคัญที่ควรจะต้องปฏิบัติก็คือการทำให้เครื่องยนต์มีการเข้าที่เข้า ทาง(Run in) โดยการแล่นภายในความเร็วที่กำหนดในช่วงหนึ่งพันกิโลเมตรแรก การซื้อรองเท้าคู่ใหม่ก็มีหลักคล้ายๆ กัน คือจะต้องมีช่วงที่จะทำให้เท้าเราชินกับรองเท้าก่อนที่จะนำไปใส่เดินป่า จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าที่ทำจากวัสดุสังเคราะห์เช่น กอร์เท็กซ์ หรือทำจากหนังแท้ การทดลองก่อนเดินจริงเป็นสิ่งจำเป็น (ถึงแม้ว่ากอร์เท็กซ์จะไม่จำเป็นมากเท่ากับรองเท้าหนังแท้ก็ตาม) ไม่ควรที่จะฉลองรองเท้าเดินป่าคู่ใหม่เอี่ยมแกะกล่องกับการเดินป่าสามคืนสี่ วันที่ต้องแบกเป้หนักหลายสิบกิโลโดยเด็ดขาด (ขอรับรองว่าเหมือนฝันร้ายจริงๆ เพราะเคยโดนรองเท้าคู่ใหม่ทำพิษจนเท้าพองเป็นตุ่มน้ำมาแล้ว สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยนไปใส่รองเท้าแตะเดินป่า แล้วเดินแบกรองเท้าคู่ใหม่ที่หนักแสนหนักออกมาแทน) การทำให้เราชินกับรองเท้าอาจจะเริ่มจากการใส่เดินป่าในระยะทางสั้นๆ ก่อน เพื่อให้ชินกับเท้า และค่อยๆ ใช้กับเส้นทางที่ยาวขึ้น หลังจากการอุ่นเครื่องซักระยะหนึ่งจนมั่นใจแล้วว่ารองเท้าคู่ใหม่คู่นี้คุ้น เคยกับเท้าของคุณเป็นอย่างดี และจะไม่มีการทะเลาะหรือกัดเท้าของคุณกลางป่าแล้วล่ะก็ คุณก็สามารถมีความสุขกับการแบกเป้เดินป่าจริงๆ โดยมีรองเท้าคู่ใหม่ที่รู้ใจเท้าของคุณเป็นเพื่อนร่วมทางที่ดีได้ในที่สุด

การเตรียมตัวสำหรับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น

ถึงแม้ว่ารองเท้าคู่ใหม่ของคุณจะผ่านการทดสอบทุกขั้นตอนแล้ว ว่า เหมาะสมและสบายสำหรับเท้าของคุณที่สุดแล้ว บางครั้งหากคุณเดินป่านานๆ ในบางเส้นทางที่โหดๆ (เช่น โมโกจู) ต่อให้รองเท้าดีแค่ไหนก็อาจจะทำให้เท้าคุณเกิดปัญหาได้เช่นกัน ฉะนั้นการเตรียมพร้อมในกรณีเช่นนี้ก็ไม่น่าจะเสียหาย เช่น คุณอาจจะทาครีมหรือปิโตรเลียมเจลบนรองเท้าในบริเวณที่อาจจะเกิดการเสียดสี กับเท้าของคุณหากเดินนานๆ ได้ หรือบางครั้งอาจจะต้องทาลงเท้าของคุณเองบ้าง หรือหากคุณรู้ล่วงหน้าแล้วว่าเส้นทางที่คุณจะไปผจญภัยนั้นขึ้นชื่อว่าโหดมาก คุณก็อาจจะเตรียมยาทาหรือนวดสำหรับการนวดเท้าในกิจกรรมยามค่ำที่แค้มป์ก็ได้ อย่าลืมว่าเท้าของคุณสำคัญที่สุดในการเดินเที่ยวป่า เพราะฉะนั้น การถนอมเท้าอย่างถูกวิธีจะทำให้คุณสามารถเดินเที่ยวป่าอย่างมีความสุขไปได้ อีกนาน

คำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ

ซื้อรองเท้าในตอนเย็น

เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ แต่สำคัญสำหรับการลองรองเท้าก็คือว่า ไม่ควรจะไปเลือกซื้อหลังจากที่คุณนั่งนานๆ เช่น การนั่งทำงานมาทั้งวัน หรือการเลือกซื้อในตอนเช้า ซึ่งคุณยังไม่ได้ใช้เท้าของคุณเดินไปไหนมาไหนสักเท่าไหร่ คุณ ควรจะได้เดินหรือออกกำลังเท้าของคุณมาพอประมาณแล้ว ก่อนที่จะมาลองสวมรองเท้า เนื่องจากเท้าของคุณจะบวมขึ้นจากขนาดปกติหลังจากการเดินติดต่อกันสักพัก ซึ่งเวลาเดินป่าก็เช่นกัน เท้าของคุณก็จะบวมมากกว่าปกติหลังจากที่คุณเดินมาทั้งวัน การลองรองเท้าในเวลานั้นจะทำให้คุณเลือกรองเท้าที่ใส่สบายสำหรับเท้าของคุณ มากที่สุด

ลองเตะของแข็งๆ ดูบ้าง

เมื่อลองใส่รองเท้าดูแล้ว คุณควรจะลองเตะวัตถุแข็งๆ เพื่อทดสอบว่านิ้วเท้าของคุณเลื่อนไปมาหรือไม่ หากคุณรู้สึกว่านิ้วเท้าของคุณเลื่อนไปข้างหน้าเวลาคุณเตะของแข็งๆ ก็ลองผูกเชือกใหม่แล้วลองอีกครั้ง หากยังเป็นแบบเดิมอยู่อาจจะเป็นเพราะรองเท้าคู่นั้นใหญ่เกินไป หรือหากคุณลองเตะแล้วนิ้วเท้าของคุณสามารถรับรู้การกระแทกได้อย่างดีเยี่ยม แสดงว่ารองเท้าคู่นั้นเล็กเกินไป และคุณก็ควรจะเปลี่ยนรองเท้าเบอร์ใหญ่ขึ้นนั่นเอง

รองเท้าคู่เดียวไม่สามารถใช้ได้ในทุกสถานการณ์

คุณอาจจะเห็นจาก “ชนิดของรองเท้าเดินป่า” แล้วว่ารองเท้าแต่ละชนิดก็มีจุดประสงค์ในการออกแบบมาแตกต่างกันไปตามลักษณะ การใช้งาน เพราะฉะนั้น คุณควรจะรู้ก่อนที่จะซื้อรองเท้าคู่ใหม่ว่าคุณจะซื้อไปสำหรับกิจกรรมประเภท ใด

อย่าซื้อรองเท้าผ่านอินเทอร์เน็ต

ยิ่งสำหรับนักเดินป่ามือใหม่ด้วยแล้ว คุณควรจะได้ลองและเลือกรองเท้าที่เหมาะสมสำหรับขาของคุณด้วยตัวคุณเองที่ ร้าน นักเดินป่าที่เดินมานานแล้วก็เช่นกัน เพราะรองเท้าเดินป่าไม่เหมือนอุปกรณ์ประเภทอื่น คุณจำเป็นที่จะต้องได้ลองและได้สัมผัสด้วยตัวคุณเองมากกว่าแค่การอ่านคุณสมบัติ เลือกแบบ และสีในหน้าจอเท่านั้น อย่างไรก็ดี คุณอาจจะใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการค้นหารองเท้าตามแบบและคุณสมบัติ ที่คุณต้องการและคิดว่าน่าจะเหมาะสำหรับคุณ แล้วไปหาลองตามร้าน และหากคุณอยากจะซื้อผ่านอินเทอร์เน็ตจึงค่อยไปสั่งซื้อหลังจากคุณได้เลือก และมั่นใจแล้วว่ารองเท้าที่จะซื้อเป็นคู่และรุ่นและเบอร์ที่คุณเลือกและลอง แล้ว


thank http://www.mrbackpacker.com/gear/gear_22.html

รูปแบบห่วงร้อยเชือกรองเท้า

ที่ผูกเชือกรองเท้าจะมีรูสำหรับร้อยเชือกรองเท้า ซึ่งรูที่ใช้สำหรับร้อยเชือกรองเท้าจะมีหลายแบบ ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตรองเท้า ซึ่งรูปแบบที่นิยมใช้กันในปัจจุบันจะสามารถแบ่งออกได้แป็น 5 ประเภท

1. Eyelets – แบบนี้จะเป็นที่นิยมใช้กันมากที่สุด ซึ่งจะมีลักษณะเป็นรูกลม ๆ สำหรับร้อยเชือก รูร้อยเชือกรองเท้าแบบนี้จะมีข้อเสียที่ความแข็งแรง ซึ่งอาจจะมีการฉีกขาดได้ง่ายถ้าได้รับแรงดึงจากเชือกรองเท้ามาก เพราะรูนี้จะรับแรงดึงจากเชือกรองเท้ามาก

2. D-rings – จะเป็นการใช้ห่วงเหล็กรูปตัว D แทนรูกลม ๆ ธรรมดา ซึ่งเราจะร้อยเชือกรองเท้าผ่านตัว D รูร้อยเชือกรองเท้าแบบนี้จะมีความแข็งแรงกว่าแบบ Eyelets เพราะทำด้วยโลหะสามารถรับแรงได้ดีกว่า แต่ก็จะทำให้รองเท้าหนักขึ้น จากน้ำหนักโลหะที่เพิ่มขึ้นมา

3. Pulleys or Bearings – เป็นการใช้เหล็กสำหรับเกี่ยวเชือกรองเท้า แทนที่จะใช้การร้อยผ่านห่วงหรือรู ซึ่งข้อดีคือสามารถร้อยเชือกรองเท้าได้ง่าย เพราะทำการเกี่ยวเอาก็พอ ไม่ต้องเสียเวลาในการร้อยเข้าไปทีละรู แต่การใช้รูร้อยเชือกรองเท้าแบบนี้ก็อาจจะทำให้เชือกรองเท้าหลุดง่าย เพราะเชือกเพียงแค่เกี่ยวเอาไว้เท่านั้น

4. Webbing - เป็นการใช้ผ้าทำเป็นห่วงสำหรับร้อยเชือกรองเท้า ซึ่งเหมาะสำหรับรองเท้าที่ไม่ได้ใช้งานหนักมากนัก รองเท้าที่มีรูร้อยเชือกแบบนี้มักจะมีน้ำหนักเบาและไม่หุ้มขึ้นมาสูงมาก ส่วนมากจะอยู่ประมาณข้อเท้าหรือต่ำกว่าเล็กน้อย รอบบริเวณห่วงที่ผูกเชือกรองเท้าจะมีลักษณะเรียว ให้ความรู้สึกสบายบริเวณรอบข้อเท้า นิ้วเท้า และหลังเท้า รองเท้าประเภทนี้ส่วนใหญ่จะมีห่วงร้อยเชือกด้านหน้าด้วย การใช้ผ้าทำเป็นห่วงร้อยเชือกแบบนี้ช่วยทำให้เท้าไม่ถูกกดทับจากห่วงเหล็ก และให้ความรู้สึกสบายเท้ามากกว่า

5. Combination – เป็นการใช้รูร้อยเชือกแบบผสม คือมีมากกว่า 1 แบบในรองเท้าคู่เดียวกัน อันเนื่องมาจากจุดแต่ละจุดบนรองเท้าที่เราทำการร้อยเชือก จะรับแรงไม่เท่ากัน ผู้ผลิตรองเท้าบางยี่ห้อ ก็มีการคำนวณถึงแรงในแต่ละจุด และทำการเลือกเชือก รูร้อยเชือก ให้เหมาะสมกับแรงที่เกิดขึ้นในจุดนั้น ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด


thank http://www.mrbackpacker.com/gear/gear_20.html

วัสดุที่ใช้ทำรองเท้า

รองเท้าที่เราเห็นตามท้องตลาดทั่วไปนั้นทำจากวัตถุดิบหลากหลายและแตกต่าง กันไปขึ้นอยู่กับ รูปแบบ ประเภทในการใช้งาน ส่วนคุณภาพก็จะลดหลั่นไปตามคุณสมบัติและราคาของรองเท้าในรุ่นนั้น ๆ ถ้ารุ่นไหนมีคุณสมบัติพิเศษในการใช้งานเฉพาะ หรือมีเทคโนโลยีสูง ราคารองเท้าก็จะสูงขึ้น ซึ่งตัววัสดุที่เราจะใช้ทำรองเท้าที่ส่วนที่เป็นหน้าผ้าของรองเท้าก็มีหลาย ประเภทขึ้นกับการใช้งานโดยจะสามารถแบ่งได้ออกเป็น 5 ประเภทคือ

1. หนังเทียม (Synthetic)

หนัง เทียมนั้นมีมากมายหลากหลายชนิด และคุณภาพก็จะแตกต่างกันไปตามราคาและคุณลักษณะเฉพาะ ของหนังเทียมนั้นๆ คุณภาพของหนังเทียมนั้นมีตั้งแต่เป็นไนล่อนธรรมดาที่คุณสมบัติกันน้ำระดับ หนึ่ง หรือความทนทานจนถึง Gore–Tex* ซึ่งถูกพัฒนาให้มีคุณสมบัติกันน้ำได้ดีที่สุด ทั้งมีความทนทานและระบายอากาศได้ดีเยี่ยม หนังเทียมที่ลักษณะเบา จะเหมาะสำหรับใช้ทำรองเท้าวิ่ง และรองเท้ากีฬาประเภทต่างๆ ขณะที่ Gore–Tex นั้นจะใช้ในรองเท้าเดินทางทั่วไปและรองเท้าเดินป่า ในส่วนของราคานั้น ถ้าเป็นไนล่อนธรรมดาราคาจะถูกและสมเหตุสมผล แต่ถ้าเป็น Gore-Tex ราคาจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแพงเลยทีเดียว ปกติแล้ว หนังเทียม จะมีทั้งผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ อาทิเช่น เกาหลี ไต้หวัน หรือ จีน

2. หนังแท้ที่มีการนำชิ้นส่วนด้านในออก (Split Grain Leather)

เป็นหนังแท้ทำจากหนังวัวส่วนบริเวณคอและท้อง ที่ผ่านขั้นตอนการผลิต มีการนำชิ้นส่วนด้านในของแผ่นหนังออก แล้วตัดเป็นแผ่นๆ หนา หรือ บาง ขึ้นอยู่กับว่าจะนำไปเย็บส่วนไหนของหน้าผ้าของรองเท้า มีลักษณะเป็นชั้นๆ คล้ายชั้นของกระดาษแข็ง มีคุณสมบัติเบาและมีความสามารถระบายอากาศได้ดีกว่า หนังวัวที่ตัดมาจากบริเวณสะโพก หรือหนัง Nubuk ( Suede) แต่จะไม่ค่อยทนทาน หรือกันน้ำได้ดีถึงแม้จะผ่านกรรมวิธีที่เป็นขบวนการของการกันน้ำแล้วก็ตาม ฉะนั้นหนังวัวประเภทนี้จะไม่เหมาะมาทำรองเท้าที่ต้องการความสมบุกสมบันในการ ใช้งาน แต่จะเหมาะกับรองเท้าวิ่ง และ รองเท้าออกกำลังกายทั่วไปมากกว่า.

3. หนังนูบัค (Nubuk Leather (Suede))

หนัง ชนิดนี้คือหนังวัวส่วนที่มาจากบริเวณสะโพกของวัวที่ผ่านกรรมการขัดเพื่อให้ หนังมีความนุ่มขึ้น ซึ่งโดยปรกติหนังชนิดนี้จะหนาและแข็งกว่า Split Grain Leather ดังนั้นโรงฟอกหนังจึงต้องนำไปผ่านกรรมวิธีต่างๆก่อนเพื่อให้ได้หนังที่นุ่ม น่าใช้ก่อนที่จะนำมาแปรรูปเป็นรองเท้า ซึ่งหนังที่ผ่านกรรมวิธีเหล่านี้เราจะเรียกโดยทั่วไปว่าหนังนูบัค (Nubuk Leather) และมีความทนทานในการใช้งานมากกว่า Split Grain Leather แต่ จะเกิดรอยถลอกและรอยขูดขีดได้ง่ายอีกทั้งคุณสมบัติในการกันน้ำ ก็น้อยลงด้วยเช่นกัน

4. หนังแท้ที่ไม่มีการนำชิ้นส่วนด้านในออก (Full Grain Leather)

เป็นหนังที่มาจากบริเวณสะโพกของวัว โดยไม่มีการนำชิ้นส่วนใด ๆ ของหนังออกไปในขั้นตอนการผลิต ซึ่งหนังชนิดนี้มีความแข็งแรงทนทานในการใช้งาน และมีราคาแพงที่สุด เป็นหนังวัวที่มีคุณภาพดีกว่าหนัง Nubuk (Suede ) และมีความสามารถในการกันน้ำสูงกว่าหนังวัวประเภทอื่น (ถ้าไม่นับถึง Gore-Tex ซึ่งเป็นหนังเทียม ) และมีอายุในการใช้งานยาวนานกว่าชนิดอื่น ผิวหน้าของหนังจะถูกเคลือบด้วยวัสดุเคมีบาง ๆ เหมือน ฟิล์ม และผ่านขบวนการอัดลายนูนบนผิวหน้าเพื่อความสวยงามและยังมีลักษณะเป็นแบบขัด ด้าน (Dull Finished) และขัดเงา (Shining Finished) อีกด้วย หนังวัวนี้จะนำเข้ามาจากประเทศแถบอเมริกาใต้ เช่น อาเจนตินา หรือ ประเทศ อิตาลี และ สเปน ซึ่งเป็นหนังวัวที่มีคุณภาพดีและราคาค่อนข้างสูง สำหรับนำมาทำรองเท้าแฟชั่น ส่วนรองเท้ากีฬาหรือ ปีนเขาเดินป่า จะใช้หนังวัวที่นำเข้ามาจาก ไต้หวัน หรือ เกาหลีมากกว่า คุณภาพก็จะด้อยกว่าเล็กน้อย ทั้งนี้ ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับประเภทของรองเท้าที่จะนำหนังวัวไปใช้ผลิต

5. ผ้า (Fabric)

รองเท้าบางชนิดจะทำจากวัสดุที่เป็นผ้า เช่นรองเท้าที่มาจากจีนแดง ซึ่งวัสดุที่เป็นผ้าจะมีความสามารถในการระบายอากาศได้ดี น้ำหนักเบา และราคาถูก แต่ก็มีข้อเสียคือ ไม่กันน้ำ และขาดง่าย รองเท้าบางประเภทจะมีการใช้ผ้าผสมกับหนัง เพื่อให้รองเท้ามีความสามารถในการระบายอากาศได้ดีขึ้น

Gore-Tex® Fabric - เป็นผ้าที่มีรูขนาดเล็ก โดยจะมีรูมากถึง 9 ล้านรูต่อตารางนิ้ว ซึ่งรูเหล่านี้จะมีขนาดเล็กกว่าขนาดหยดน้ำถึง 20,000 เท่า แต่มีขนาดใหญ่กว่าโมเลกุลของไอน้ำประมาณ 700 เท่า ทำให้ผ้าชนิดนี้มีคุณสมบัติในการระบายอากาศและกันน้ำได้ดีเยี่ยม ในปัจจุบันผ้าชนิดนี้เป็นผ้าที่ที่ดีที่สุดที่สามารถกันน้ำ กันลมและระบายอากาศได้อย่างดีเยี่ยม.


thank http://www.mrbackpacker.com/gear/gear_18.html

รูปแบบทรงรองเท้า (Boot Cuts)

ถ้าลองสังเกตรองเท้าให้ดีจะพบว่ารองเท้าแต่ละแบบจะมีรูปทรงไม่เหมือนกัน บางชนิดจะมีทรงสูงกว่าปรกติ ซึ่งรูปทรงของรองเท้าที่แตกต่างกันย่อมจะมีคุณสมบัติแตกต่างกันด้วย โดยทั่วไป เราสามารถแบ่งรูปทรงของรองเท้าออกได้เป็น 3 แบบ คือ

1. รองเท้าหุ้มส้น (Below Ankle) – รองเท้ารูปทรงนี้ เมื่อเราใส่แล้วจะพบว่าจะมีส่วนสูงของรองเท้าด้านบนต่ำกว่าบริเวณข้อเท้า รองเท้ารูปทรงนี้จะมีน้ำหนักเบา ใส่สะดวก แต่ว่ารองเท้าชนิดนี้จะมีโอกาสทำให้เกิดการบิดของข้อเท้าได้ง่ายกว่าในกรณี ที่เราเดินสะดุด หกล้ม

รองเท้าหุ้มส้น
รองเท้าหุ้มส้น

2. รองเท้าหุ้มข้อ (Ankle) – รองเท้ารูปทรงนี้ถูกออกแบบให้มีความสูงอยู่บริเวณข้อเท้า ซึ่งจะเหมาะกับการใช้งานสำหรับการเดินป่าในเส้นทางแบบง่าย ๆ (Trail Runner) หรือการเดินป่าตามเส้นทางที่ได้มีการจัดเตรียมไว้ให้แล้ว (On Trail) รองเท้าชนิดนี้จะมีคุณสมบัติเหมือนกับแบบ รองเท้าหุ้มส้น (Below Ankle) และยังช่วยปกป้องการบาดเจ็บของข้อเท้า ป้องกันน้ำและโคลนเข้ารองเท้าได้ดีในระดับหนึ่ง

รองเท้าหุ้มข้อ
รองเท้าหุ้มข้อ

3. รองเท้าหุ้มข้อสูง (Above Ankle) – รองเท้าชนิดนี้จะถูกออกแบบให้ใช้กับการเดินป่าที่โหด ส่วนที่หุ้มข้อเท้าจะมีความสูงกว่าแบบอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยปกป้องการบาดเจ็บของข้อเท้าได้ดีที่สุดเพราะจะหุ้มส่วนข้อเท้าไว้ และยังช่วยป้องกันน้ำเข้ารองเท้ากรณีที่เดินลุยน้ำไม่สูงนัก แต่รองเท้าชนิดนี้จะมีข้อเสียที่มีน้ำหนักมาก และแห้งช้าเมื่อเปียกน้ำ

รองเท้าหุ้มข้อสูง
รองเท้าหุ้มข้อสูง


thank http://www.mrbackpacker.com/gear/gear_19.html

ส่วนประกอบของรองเท้าเดินป่า

รองเท้า เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญ หรือแทบจะเรียกได้ว่าเป็นหัวใจของการเดินป่าเลยทีเดียว เพราะรองเท้าคู่นี้จะพาเราไปสัมผัสความสวยงามตามธรรมชาติในป่าเขาลำเนาไพร ทั้งเดินไต่ระดับตามภูเขาลูกแล้วลูกเล่า หรือท่องน้ำไปตามลำห้วยต่างๆยามเดินหลงป่าหรือ หาเส้นทางในป่าไม่พบ ถ้าเมื่อไรที่เจ้ารองเท้าคู่ใจเกิดทรยศขึ้นมา ก็อาจทำให้เจ้าของต้องน้ำตาเช็ดหัวเข่าได้เช่นกัน และการเที่ยวเดินป่าครั้งนั้นก็คงจะหมดสนุกอย่างสิ้นเชิง รองเท้า จึงนับว่าเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งในการเดินป่า และคงต้องให้ความใส่ใจในการเลือกรองเท้าในการใช้งาน ก่อนอื่นมาทำความรู้จักส่วนประกอบต่างๆของรองเท้า ว่ามีอะไรบ้าง



1. คอรองเท้า (PADDED SCREE COLLAR / COLLAR)
เป็นส่วนสันขอบรองเท้าด้านใน ที่ประกอบด้วยฟองน้ำประกบกาวกับผ้ายืดคล้าย ๆ ผ้าขนหนู ขนสั้น ซึ่งถูกแปรงจนขนขึ้นฟูเล็กน้อย ลักษณะผ้าจะทอไม่แน่น ใช้ชื่อเรียกทั่วไปว่า Visa Pile ความยาวของขนนั้นจะสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับประเภทของรองเท้าและดีไซน์ ส่วนใหญ่ถ้าเป็นรองเท้าสำหรับเดินป่าแล้วจะเป็นขนสั้นมากกว่า เพื่อสะดวกในการดูแลรักษาและความนุ่มนวลในการสวมใส่ อีกทั้งลดการเสียดสีตรงช่วงขอบของปีกรองเท้ากับบริเวณข้อเท้าตรงส่วนที่เป็น เอ็นร้อยหวาย

2. ที่กันกระแทกเอ็นร้อยหวาย (ACHILLES NOTCH)
‘ACHILLES’ คือ เอ็นร้อยหวาย ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของเท้าจึงต้องมีฟองน้ำเพิ่มใส่เข้าไปในจุดนี้ ซึ่งอยู่ตรงกึ่งกลางของด้านหลังของรองเท้าทีเป็นจุดสัมผัสกับเอ็นร้อยหวาย เพื่อคอยรับแรงกระแทกที่อาจเกิดขึ้นจากการเดิน ปีนเขา หรือ อุบัติเหตุจากการหกล้ม

3. ผนังรองเท้า (WATERPROOF / BREATHABLE LINER)
เป็นส่วนที่อยู่ด้านในของรองเท้าจะใช้วัสดุที่กันน้ำและสามารถระบายอากาศได้ดี เพื่อลดความอับชื้นและกลิ่นอันไม่พึงประสงค์

4. ลิ้นรองเท้า (SOFT TONGUE GUSSET)
รองเท้าก็มีลิ้นเหมือนกัน ซึ่งส่วนนี้ประกอบไปด้วยหนังเทียมประกบ กับฟองน้ำ (Form หรือ Sponge ) มีลักษณะเป็นแซนวิชโดยมีหนังเทียมประกบทั้งด้านนอกและด้านใน แล้วเย็บตะเข็บทั้งสองข้างเข้ากับด้านบนของรองเท้า ซึ่งจะมีชื่อเรียกว่า Gusset (Gusset แปลตามตัวคือ เหล็กรูปสามเหลี่ยมที่ใช้ต่อมุมผนัง) ตัวลิ้นของรองเท้านั้นจะอยู่บริเวณใต้เชือกผูกรองเท้า รองเท้าบางประเภทจะเห็นว่า ลิ้นของรองเท้าจะไม่เย็บติดกับด้านบนของรองเท้า เช่น รองเท้ากีฬาประเภทต่างๆ แต่สำหรับรองเท้าเดินป่านั้น ส่วนใหญ่จะเย็บลิ้นเป็นแบบ Gusset เพื่อความสะดวกในการสวมใส่และกระชับยิ่งขึ้นหลังจากร้อยเชือกแล้ว อีกทั้งยังช่วยรักษาตำแหน่งของลิ้นให้อยู่คงที่ไม่บิดเบี้ยวเวลาเคลื่อนใหว

5. รอยต่อลิ้นรองเท้า (SYNTHETIC LINING)
คือส่วนที่เย็บติดกับลิ้นของรองเท้า ( Tongue ) ทั้งด้านนอกและด้านในจะใช้วัสดุที่เรียกว่า Synthetic หรือ หนังเทียมนั่นเอง เพื่อความคงทนในการใช้งานและลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากราคาจะถูกกว่าหนังแท้ มีลักษณะทั้งเป็นแบบด้าน (Dull Finished) และ แบบมัน ( Shining Finished) แล้วแต่ดีไซน์ของรองเท้า

6. แผ่นรองรองเท้า (STIFFENER / PLASTIC HEEL CUP)
เป็นส่วนประกอบสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้รองเท้ามีรูปร่างสวย ชิ้นส่วนนี้จะมีรูปลักษณะโค้งแคบคล้ายๆตัว V ทรงกว้างเพื่อรองรับรูปทรงของส้นเท้า และให้เกิดความกระชับกับส้นเท้า ทำให้ส้นเท้าคงที่ ไม่บิดเวลาก้าวเท้า หรือเกิดอุบัติเหตุเท้าพลิก วัสดุนี้จะมี 2 ประเภทประเภทแรกเป็น Tr Counter ทำจาก Thermoplastic แล้วขึ้นรูปสำเร็จรูปจากโรงงาน อีกประเภทหนึ่งเป็น แผ่นเคมี (Chemical Sheet) ซึ่งต้องนำมาตัด (Cutting) แล้วจึงค่อยนำไปผ่านความร้อนอัดเป็นรูปส้นเท้า ส่วนใหญ่จะนิยมใช้ Tr Counter มากกว่า

7. กันชน (TOE RAND / BUMBER หรือ TOE CAP / TOE GUARD)
เป็นชิ้นส่วนที่เรียกได้ว่า “ กันชน “ เพราะจะคอยรับแรงกระแทกเมื่อเกิดอาการเสือซุ่ม เดินเตะหิน หรือ เตะขอนไม้ โดยไม่ได้ตั้งใจ จะเป็นแผ่นยางที่อัดให้โค้งมนเข้ารูปกับส่วนหัวของรองเท้า บางรุ่นอาจเป็นแผ่นยางชิ้นเดียวกันกับพื้นยางของรองเท้า บางรุ่นอาจแยกชิ้นส่วนกัน ส่วนใหญ่จะพบในรองเท้าเดินป่า และ รองเท้า สไตล์ลำลอง แต่จะไม่พบในรองเท้าประเภทวิ่ง และ รองเท้าทำงาน ปัจจุบันผู้ผลิตพยายามจะฉีกแนวโดยเปลี่ยนวัสดุจากยางมาเป็น PVC แทน ทำให้ กันชน มีความแข็งขึ้นและป้องกันแรงกระแทกให้กับนิ้วเท้าได้เป็นอย่างดี

8. ห่วงเผูกเชือกบริเวณข้อเท้า (ANKLE HOOK)
ตำแหน่งของที่ผูกเชือกรองเท้า จะอยู่บริเวณข้อเท้า เป็นตัวช่วยในการดึงเชือกร้อยรองเท้าให้แน่นขึ้นเพื่อความกระชับในการสวมใส่

9. ห่วงผูกเชือกบริเวณปลายข้อเท้า (LACING HOOK)
จะเป็นห่วงผูกเชือกรองเท้าที่อยู่ตรงจุดสุดท้ายในการร้อยเชือก ซึ่งส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นที่ให้เกี่ยวกับเชือกรองเท้า เพื่อที่จะสะดวกในการถอดเชือกรองเท้าบริเวณด้านบน และเป็นตัวช่วยในการดึงเชือกรองเท้าให้แน่นขึ้น

10. พื้นรองเท้าด้านใน (INSOLE / INLAY SOLE / MOLDED FOOTBED)
เป็นพื้นรองเท้าด้านใน ทำจากฟองน้ำที่ผ่านการขึ้นรูปเป็นรูปเท้าแล้วประกบด้วย Visa Pile (ฟองน้ำประกบกาวกับผ้ายืดคล้ายๆผ้าขนหนู ขนสั้น) เพื่อความนุ่มเท้าขณะสวมใส่ บางรุ่น อาจเป็นแบบ สำเร็จรูปและสามารถถอดออกมาทำความสะอาดได้

11. ชั้นกลางพื้นรองเท้า (MIDSOLE)
เป็นชิ้นส่วนที่อยู่ตรงด้านในของพื้นรองเท้าชั้นนอก ส่วนใหญ่ทำจากวัสดุมีลักษณะนุ่มเหมือนฟองน้ำแต่มีความหนาแน่นมากกว่า จึงทำให้มีความแข็งแรงพร้อมที่จะรองรับน้ำหนักและแรงกระแทกของผู้สวมใส่ขณะ ก้าวเท้า ปกติแล้วเราจะไม่เห็นชิ้นส่วนนี้ถึงแม้ว่าจะถอด แผ่นรองรองเท้า (Insole) ออกมาก็ตาม เนื่องจากว่าจะมี PAPER BOARD เย็บติดกับหน้าผ้า ( ส่วนบนของรองเท้า) อีกชั้นหนึ่งเพื่อความคงทนในการใช้งาน

12. พื้นรองเท้า (CEMENTED WELT / OUTSOLE)
พื้นรองเท้าส่วนจะเป็นส่วนนอกสุดอยู่บริเวณใต้รองเท้า วัสดุส่วนใหญ่จะทำจากยางมีลวดลาย หรือที่เรียกว่า ดอกยาง เพื่อเพิ่มสมรรถนะในการเกาะพื้นขณะเดิน ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่ชื้นแฉะหรือหินกรวดตามสันเขา

13. ส้นรองเท้า (TAPPERED LUG)
พื้นตรงส้นเท้าด้านนอก ส่วนใหญ่จะทำจากยาง บางรุ่นจะใช้ไม้อัดแน่น คล้ายๆไม้ก๊อก หรือ ไม้ ทำชิ้นส่วนนี้เพื่อความคงทนในการใช้งาน

ทั้งหมดนี้ก็คือส่วนประกอบพื้นฐานของรองเท้า หวังว่าเพื่อนๆคงได้รู้จักรองเท้ามากขึ้นและสนุกสนานกับการเดินป่าไปกับ รองเท้าคู่ใจอย่างมีความสุข

thank http://www.mrbackpacker.com/gear/gear_16.html

ชนิดและรูปแบบของรองเท้าเดินป่า

เมื่อถามว่าอุปกรณ์เดินป่าชิ้นใดสำคัญที่สุด หลายคนอาจจะนึกถึงเป้เดินป่าดีๆ สักใบ บางคนอาจจะนึกถึงเสื้อผ้าที่เหมาะสม เข็มทิศ หรือแผนที่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต่างก็เป็นสิ่งจำเป็นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่อุปกรณ์ที่ดีที่สุดพวกนี้ก็คงจะไม่ช่วยให้คุณเดินป่าได้อย่างมีความสุข นัก หากเท้าของคุณทรมานกับอาการรองเท้ากัด หรือข้อเท้าพลิก ซึ่งเกิดจากการใช้รองเท้าไม่เหมาะสม บางครั้งอาจจะทำให้เดินต่อไม่ได้เอาเลยด้วยซ้ำ รองเท้าเดินป่าจึงเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญ ที่สุดสำหรับการเดินป่า

มีผู้ผลิตรองเท้าที่ใช้สำหรับการเดินป่าออกมามากมายหลายชนิด ซึ่งก็แตกต่างกันไปตามประเภทของการใช้งาน รองเท้าที่ใช้สำหรับการเดินป่าระยะสั้น หรือการเดินเที่ยวไปตามเส้นทางที่ได้มีการจัดเตรียมไว้ให้โดยไม่ต้องมีการ เข้าไปพักแรมในป่า (Day Hiker) ก็ย่อมจะมีลักษณะและคุณสมบัติที่แตกต่างจากรองเท้าเดินป่าที่ใส่สำหรับการ เดินแบกเป้หนักเข้าไปในเขตป่าดงดิบหรือพื้นที่ทุรกันดารอย่างแน่นอน โดยทั่วๆ ไปแล้ว เราสามารถแบ่งประเภทของรองเท้าเดินป่าออกได้เป็น 6 ประเภท คือ

  • Mountaineering Boots
  • Backpacking
  • Off Trail
  • On Trail
  • Trail Runners
  • Sandals

ซึ่งการที่เราจะเลือกชนิดของรองเท้าที่จะใช้ได้นั้น แรกสุดเราก็จำเป็นที่จะต้องเข้าใจก่อนว่าจะใช้สำหรับการเดินทางในลักษณะใด

Mountaineering Boots

รองเท้าประเภทนี้เหมาะสำหรับนักเดินป่าที่ชอบปีนยอดเขาสูง ยอดเขาที่มีหิมะปกคลุม หรือบริเวณที่อากาศหนาวจัดจนแม่น้ำเป็นน้ำแข็ง (เราคงไม่มีโอกาสได้ใช้รองเท้าประเภทนี้ในเมืองไทยแน่นอน) รองเท้าชนิดนี้จะมีลักษณะค่อนข้างแข็ง สมัยก่อนจะทำจากหนัง และใช้หนังเย็บริมขอบรองเท้า และสำหรับประเภทที่เดินบนหิมะยังมีหนามทำจากเหล็กเอาไว้ยึดกับพื้นผิวอีก ด้วย รองเท้าจะสูงเหนือข้อเท้าและจะมีพื้นรองเท้าที่หนาเป็นพิเศษ ปัจจุบัน ผู้ผลิตรุ่นใหม่ (Koflach, Asolo, Etc.) ได้หันมาใช้พลาสติกหุ้มแทน แต่ถึงแม้ว่ารองเท้ารุ่นใหม่จะสามารถใช้ได้ดีบนหิมะหรือน้ำแข็งที่สูงชัน แต่ก็ไม่ได้ให้ความรู้สึกสบายกับผู้ใส่เลย เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ผลิตชาวยุโรปเช่น La Sportiva ได้หันกลับมาใช้หนังสำหรับการผลิตรองเท้าอีกครั้ง และได้มีการคิดค้นวัสดุชนิดใหม่ที่เรียกว่า Vibers ขึ้นมาแทน โดยรองเท้ารุ่นใหม่นี้จะมีน้ำหนักโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3 – 5 ปอนด์ ส่วนราคาของรองเท้าแบบนี้จะมีราคาสูงมาก

รองเท้าสำหรับปีนเขา
รองเท้าสำหรับปีนเขา

รองเท้าสำหรับเดินบนหิมะ
รองเท้าสำหรับเดินบนหิมะ

Backpacking or Regular

รองเท้า ประเภท Backpacking นี้เหมาะสำหรับการเดินป่าในสภาพพื้นผิวที่ค่อนข้างจะทรหด ลำบากลำบนหรือทุลักทุเลเอามากๆ และเหมาะสำหรับการเดินแบกของที่ค่อนข้างหนักมากๆ ในเส้นทางที่ใช้เวลาในการเดินหลายๆ วัน รองเท้าประเภทนี้มีพื้นรองเท้าที่หนาและแข็ง และมักมีน้ำหนักมาก จึงไม่เหมาะสำหรับการเดินป่าแบบง่ายๆ ในเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ส่วนมากวัสดุที่ใช้ผลิตรองเท้า Backpacking จะเป็นหนังทั้งหมด หรือเป็นวัสดุสังเคราะห์คุณภาพสูงอย่างกอร์เท็กซ์เท่านั้น เพราะจะช่วยในการเกาะยึดพื้นผิวเป็นอย่างดี และช่วยในการทรงตัวเป็นเยี่ยม นอกจากนี้ รองเท้าประเภทจะมีความสูงเหนือข้อเท้า มีการบุหนังด้านในป้องกันนิ้วเท้า และมีคุณสมบัติในการกันน้ำอย่างดีอีกด้วย จึงสามารถจะใช้เดินลุยในพื้นที่ที่เป็นดินโคลน พื้นที่ชื้นแฉะ หรือในการเดินทางที่จำเป็นจะต้องข้ามหรือลุยน้ำบ่อยๆ และหากซื้ออุปกรณ์ห่อหุ้มเท้ามาเพิ่มเติมจะทำให้สามารถใช้ลุยในพื้นที่เหล่า นี้ได้ดีขึ้น แต่หากต้องการจะใช้สำหรับการเดินป่าหรือปีนเขาในพื้นที่ที่หนาวเย็นมากๆ อาจจะต้องใช้รองเท้าที่ผลิตมาสำหรับการลุยหิมะ (Mountaineering Boots) โดยเฉพาะ

Off Trail

รองเท้า Off Trail สามารถใช้ได้กับการเดินป่าในแทบจะทุกพื้นผิว ทุกสภาพอากาศ และทุกภูมิประเทศ แต่เนื่องจากรองเท้าประเภทนี้มีพื้นรองเท้าที่ค่อนข้างแข็งและหนามากกว่า รองเท้าประเภทอื่น และมีโครงสร้างที่ค่อนข้างจะแข็งแรงและหนักพอสมควร ทำให้ไม่ค่อยเหมาะนักหากจะนำไปใช้เดินป่าในทางเดินง่ายๆ เช่นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ แต่จะเหมาะสำหรับการเดินเข้าป่าในเส้นทางที่ไม่ได้มีการทำทางเอาไว้ให้ หรือในการเดินป่าที่จะต้องมีการแกะรอยหรือหาทางเดินเอง โดยทั่วไปรองเท้า Off Trail จะทำจากหนังหรือวัสดุสังเคราะห์ที่กันน้ำได้อย่างดี เช่น กอร์เท็กซ์ (Gore-Tex) รองเท้าประเภทนี้จะมีการยึดเกาะพื้นผิวที่ดีเยี่ยม และช่วยในการทรงตัวหรือการเดินทางได้เป็นอย่างดี ส่วนมากแล้วมักจะมีความสูงเหนือข้อเท้าขึ้นไป มีการบุหนังเสริมด้านในรองเท้าเพื่อป้องกันนิ้วเท้า และบางรุ่นอาจจะมีการทำขอบรองเท้าจากวัสดุกันน้ำอีกด้วย ถ้าใช้งานอย่างถูกวิธีจะกันน้ำเข้ารองเท้าได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ (หากมีการเดินลุยน้ำที่ไม่สูงกว่ารองเท้า) และสามารถเดินลุยโคลนหรือลำธารตื้นๆ ได้ดี และในรองเท้าบางรุ่นที่มีการออกแบบและเย็บหุ้มรองเท้าอย่างดีแล้วจะช่วยให้ ความอบอุ่นกับเท้าได้เป็นอย่างดี

On Trail

รองเท้า ประเภทนี้จะมีคุณสมบัติที่ดีกว่ารองเท้า Trail Runner หรือจะเรียกว่าพัฒนาขึ้นมาอีกขั้นจาก Trail Runner ก็ได้ ซึ่งจะใช้สำหรับการเดินป่าที่ต้องมีการผจญภัยมากขึ้นกว่าการเดินตามเส้นทาง ศึกษาธรรมชาติอย่างง่าย อาจจะเป็นการเดินแบกเป้ขนาดกลางเข้าไปค้างแรมสักหนึ่งคืน หรือสำหรับการผจญภัยในพื้นที่ที่ต้องมีการปีนป่ายพอสมควรก็ได้ วัสดุที่ใช้ทำรองเท้าก็มีหลายประเภท เช่น หนัง วัสดุสังเคราะห์ และวัสดุสังเคราะห์กันน้ำ เป็นต้น พื้นรองเท้าจะแข็งกว่าแบบ Trail Runner แต่จะมีความยึดเกาะพื้นผิวได้ดีกว่า ส่วนความสูงของรองเท้าก็มักจะอยู่ที่ระดับข้อเท้าหรือสูงกว่าเล็กน้อย และอาจจะมีการบุหนังด้านในรองเท้าเพื่อป้องกันการเสียดสีหรือการเกิดบาดแผล ที่นิ้วเท้าได้อีกด้วย ถึงแม้ว่ารองเท้า On Trail นี้จะไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้สามารถกันน้ำได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็สามารถการเปียกชื้นภายในจากโคลนหรือจากการเดินข้ามลำธารตื้นๆ ได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ รองเท้า On Trail ยังให้ความอบอุ่นกับเท้าได้ในระดับหนึ่ง

Trail Runners

โดยทั่วไป รองเท้าแบบ Trail Runner จะใช้ในการเดินป่าบนเส้นทางง่ายๆ เส้นทางที่ได้มีการทำทางเดินเอาไว้ให้อย่างดีแล้ว เส้นทางศึกษาธรรมชาติตามอุทยานแห่งชาติต่างๆ หรือจะเป็นการขี่จักรยานเสือภูเขาเข้าป่าแล้วไปแวะเดินสำรวจระยะสั้นๆ ที่ปลายทางก็ได้ ส่วนมากจะใช้กับการเดินป่าที่ไม่ต้องเข้าไปค้างแรมข้างใน เป็นการเดินแบบไปเช้ากลับเย็น รองเท้าประเภทนี้ส่วนมากจะมีความสูงประมาณข้อเท้าหรือต่ำกว่าเล็กน้อย และทำจากทั้งวัสดุสังเคราะห์และหนัง จึงไม่เหมาะสำหรับการใช้เดินป่าในพื้นที่ที่ค่อนข้างจะทรหด หรือในบริเวณที่จะต้องมีการปีนป่ายไปตามหินผา เพราะจะทำให้ข้อเท้าพลิกหรือได้รับบาดเจ็บจากคมหินได้ง่ายๆ นอกจากนี้ โดยมากแล้วรองเท้าประเภทนี้จะไม่กันน้ำและไม่ค่อยจะยึดเกาะพื้นนัก อาจจะสร้างความลำบากให้เราเวลาต้องใส่เดินลุยโคลนหรือเดินลุยข้ามน้ำ และยังไม่สามารถให้ความอบอุ่นกับเท้าได้มากนักอีกด้วย ดังนั้น รองเท้าประเภทนี้จึงไม่เหมาะที่จะใช้สำหรับการเดินป่าที่ใช้เวลานานกว่าห นึ่งวันในเส้นทางที่ไม่ใช่เส้นทางศึกษาธรรมชาติอย่างง่ายๆ

Sandals

Sandals
Sandals
รองเท้า อีกประเภทหนึ่งที่สามารถใช้ในการเดินป่าได้เช่นกันคือรองเท้าแบบ Sandals หรือรองเท้ารัดส้น ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ รองเท้าแตะแต่มีสายรัดส้นเท้าเอาไว้เพื่อให้ไม่หลุดง่ายและเพิ่มความสะดวก คล่องตัวในการเดินมากยิ่งขึ้น ผู้ผลิตบางรายได้คิดค้นออกแบบวัสดุที่ใช้ทำพื้นรองเท้าให้สามารถระบายอากาศ ได้เป็นอย่างดีและไม่มีการเหม็นอับเท้าอีกด้วย รองเท้าประเภทนี้ ปกติจะใส่เดินในเมืองทั่วๆ ไป หรือการเที่ยวแบบสบายๆ ก็ได้ และมักจะนำไปใช้ใส่เดินป่าในเส้นทางที่เดินอย่างง่ายๆ ได้อีกด้วย หรือบางคนอาจจะชอบใส่เดินขึ้น-ลงเขาเนื่องจากไม่ทำให้นิ้วเท้าเจ็บจากการ เสียดสีหรือกระแทกกับด้านในของรองเท้า แต่อย่างไรก็ดี รองเท้าประเภทนี้จะให้ความปลอดภัยกับเท้าน้อยมาก สามารถทำให้เท้าพลิกได้ง่าย หรือหากต้องเดินลุยในเส้นทางที่ค่อนข้างลำบากหรือรกแล้วอาจจะทำให้เกิดบาด แผลกับเท้าได้ง่ายๆ

thank http://www.mrbackpacker.com/gear/gear_17.html

วิธีการจัดเป้

ก่อนอื่น เราควรจะคิดถึงสิ่งที่ควรจะเอาใส่เป้ไปด้วยเวลาไปเดินป่า ว่าควรจะมีอะไรไปบ้าง ซึ่งของใช้จำเป็นในการเดินป่าทุกครั้ง พอจะแบ่งออกได้ตามประเภทต่างๆ ดังนี้
  • ถุงนอน
  • เต็นท์หรือเปล
  • เสื้อผ้า (ปกติเวลาเดินอยู่ในป่าเรามักจะต้องการแค่ชุดที่ใส่ตอนนอนอีกเพียงชุดเดียว ส่วนตอนกลางวันที่เดินป่าก็มักจะใส่ชุดเดิม แต่สำหรับบางคนที่ทนกลิ่นตัวเองไม่ไหว อาจจะเอาเสื้อสำรองเข้าไปเปลี่ยนในแต่ละวันด้วยก็ได้ – นอกจากนี้ ควรจะเตรียมชุดต่างหากอีกชุดเอาไว้ใส่ในวันกลับ)
  • อาหาร อุปกรณ์ทำครัว และเชื้อเพลิง
  • ของใช้ส่วนตัว เช่น แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สบู่ แชมพู ผ้าเช็ดตัว ผ้าถุง ผ้าขาวม้า และยาแก้แพ้ต่างๆ
  • ของใช้อื่นๆ เช่น ไฟฉาย เสื้อกันฝน น้ำดื่ม ชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น เข็มทิศ ถุงพลาสติกหรือถุงดำใบใหญ่ๆ นกหวีด (มีประโยชน์มากในกรณีที่หลงทาง) และของขบเคี้ยวระหว่างทาง (ซึ่งส่วนใหญ่มักจะนิยมช็อกโกแล็ตหรือขนมที่ช่วยให้พลังงาน)
  • อาหารสำรอง ซึ่งอาจจะเป็นขนมปังหรืออะไรเล็กๆ น้อยๆ แต่ไม่ให้รับประทานในขณะที่ยังอยู่ในป่า ควรจะเก็บเอาไว้จนถึงวันสุดท้ายของการเดินทาง ที่เราแน่ใจว่าจะกลับออกมาข้างนอกได้แล้ว เผื่อเอาไว้หากมีกรณีฉุกเฉินที่ทำให้ไม่สามารถออกจากป่าได้ตามที่กำหนดไว้ และอาหารที่เตรียมไปอาจจะหมดก่อนที่จะสามารถออกจากป่าได้ เช่น หลงป่า หรือมีน้ำป่าทำให้ต้องอยู่ในป่าเกินเวลาที่กำหนดไว้

เมื่อรู้ว่าควรจะนำอะไรติดตัวเข้าไปในป่าแล้ว เราก็มาดูวิธีการจัดเป้กันว่าควรจะวางอะไรไว้ตรงไหนบ้าง หลักการง่ายๆ อย่างแรกก็คือ วางของที่คิดว่าจะใช้ทีหลังสุดไว้ล่างสุด สำหรับนักเดินป่ามือใหม่ก็คงจะสงสัยว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าจะใช้อะไรตอนไหน ลองจินตนาการดูง่ายๆ โดยไล่ไปตั้งแต่เช้าจรดเย็น สิ่งที่เราจะใช้เป็นสิ่งสุดท้ายก็ควรจะเป็นถุงนอน เพราะกว่าจะนอนได้ก็ต้องเดินไปถึงจุดหมายที่ตั้งแค้มป์แล้ว ถุงนอนจึงเป็นสิ่งที่มักจะวางไว้ส่วนล่างสุดของเป้ และเป้โครงในรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ก็มักจะมีช่องแยกต่างหากไว้ให้เก็บถุงนอนไว้ ด้านล่างด้วยเช่นกัน

ข้อควรจำอีกอย่างสำหรับการเดินป่าในเมืองไทยคือ ทุกครั้งที่จัดของลงเป้ เพื่อความปลอดภัย เราควรจะใส่ของทุกอย่างในถุงพลาสติกอีกชั้นก่อนที่จะใส่ลงในเป้ เพราะสมัยนี้ เมืองไทยฝนตกแทบทั้งปี ไม่ว่าจะเดินป่าฤดูไหน หรือถึงแม้จะไม่มีฝนตก บางครั้งการเดินป่าก็จำเป็นจะต้องมีการเดินข้ามน้ำ หรือปีนป่ายตามน้ำตกบ้าง หรือแม้กระทั่งน้ำค้างในตอนเช้า การห่อหุ้มของใช้ต่างๆ ในถุงพลาสติกอีกชั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น และไม่ได้ทำให้น้ำหนักของกระเป๋าหนักขึ้นแต่อย่างใด ตรงกันข้าม หากไม่ได้ใส่ของต่างๆ ในถุงพลาสติกแล้ว เกิดกระเป๋าของเรามีอันเป็นไป แอบหนีไปนอนเล่นในน้ำ หรือมีฝนตกระหว่างเดิน ทั้งเป้ทั้งของในเป้ก็คงเปียกหมด ทีนี้ล่ะ คงจะได้น้ำหนักส่วนเกินเพิ่มขึ้นมาอย่างหลีกไม่ได้แน่นอน

ตัวอย่างการจัดของในเป้
ตัวอย่างการจัดของในเป้

อุปกรณ์ต่อมาก็คือ เต็นท์หรือเปลและฟรายชีท ซึ่งส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นถุงยาวๆ โดยปรกติเราจะนำเปลและฟรายชีทใส่รวมกันและนำมาวางไว้ในเป้ต่อจากเสื้อผ้า ส่วนเต๊นท์บางครั้งเราอาจจะแยกพวกโครงของเต๊นท์ออกมาและมัดเอาไว้ด้าน นอกกระเป๋า ซึ่งควรจะมัดให้สมดุลและแน่น ไม่โคลงเคลงไปมาทำให้เป็นอุปสรรคในการเดินได้

จากนั้นก็ควรจะเก็บอุปกรณ์ทำครัวต่างๆ เอาไว้ในบริเวณกลางเป้ และเป็นตำแหน่งที่ใกล้กับส่วนหลังของเรา โดยอาจจะหุ้มไว้ด้วยเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์เบาๆ อื่นๆ เพื่อป้องกันการกระแทกอีกด้วย เพราะการจัดเป้ที่ดีนั้น ควรจะวางของที่มีน้ำหนักมากไว้บริเวณที่ใกล้กับกลางหลังของเราหรือค่อนไปทาง ด้านบนของเป้ ซึ่งจะเป็นจุดที่รับน้ำหนักได้ดี และไม่ทำให้เสียการทรงตัวหรือกระเป๋าส่ายไปมาในระหว่างเดิน

ต่อมา ก็คือการเก็บอุปกรณ์ของใช้ส่วนตัวต่างๆ เช่น พวกเสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว สบู่ และแชมพู เป็นต้น ส่วนของใช้อื่นๆ นั้น อาจจะจำเป็นต้องหยิบขึ้นมาใช้ระหว่างการเดินทาง เช่น ไฟฉาย เสื้อกันฝน หรือชุดปฐมพยาบาล ควรจะเก็บไว้ด้านบนที่สามารถหยิบออกมาได้ง่าย เป้ส่วนใหญ่จะมีช่องเก็บของบริเวณฝากระเป๋าด้านบน จึงสามารถจะใส่ของจุกจิกพวกนี้ไว้ได้ สำหรับน้ำดื่ม ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นตลอดการเดินทาง ก็ควรจะแยกเก็บไว้ที่กระเป๋าด้านนอกหรือบริเวณที่สามารถหยิบออกมาได้ง่าย เช่นกัน

สำหรับขั้นตอนในการสะพายเป้ให้กระชับและคล่องตัวที่สุดนั้น สามารถทำได้ง่ายๆ โดยแรกสุดก่อนที่จะสะพายเป้ ก็ควรจะผ่อนสายรัดต่างๆ ออกให้หลวมเสียก่อน จากนั้นเมื่อสะพายเป้ขึ้นบ่าแล้ว จึงเริ่มจากการปรับสายรัดสะโพกให้กระชับพอดี ไม่หลวมหรือคับจนเกินไป แล้วจึงปรับสายของที่สะพายบ่า โดยดึงปลายสายลงพร้อมกันทั้งสองข้าง ให้รู้สึกว่ากระชับพอดี ไม่อึดอัด แล้วจึงดึงสายปรับระดับตัวเป้ที่เชื่อมระหว่างที่สะพายบ่ากับตัวเป้ทั้งสอง ข้างพร้อมกัน ให้กระชับเพื่อความคล่องตัวในเวลาเดิน เพียงเท่านี้ คุณก็จะสามารถเดินป่าได้อย่างมีความสุข ไม่ใช่การทรมานร่างกายเหมือนที่บางคนเคยประสบมา


thank http://www.mrbackpacker.com/gear/gear_11.html

การดูแลรักษาเป้

หากต้องการให้เป้ใบเก่งอยู่กับเรานานๆ เราควรจะรู้จักใช้เป้อย่างถูกวิธี และรู้จักดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ดังนี้
  • ของมีคมควรห่อให้มิดชิด
    เพื่อป้องการเป้เสียหาย
    เวลา ใช้งาน หากจะต้องใส่ของที่มีความคม เช่น มีด เตา หรืออุปกรณ์ทำครัว ก็ควรจะมีกล่องหรือถุงห่อหุ้มเอาไว้ให้มิดชิด มิฉะนั้น อุปกรณ์เหล่านั้นอาจจะทิ่มทะลุเป้ออกมาทำให้เกิดความเสียหายกับตัวเป้หรือ แม้กระทั่งทิ่มโดนตัวคุณเองด้วยก็ได้
  • เมื่อกลับจากการเดินป่าทุกครั้ง ไม่ควรจะทิ้งถุงอาหารหรือเศษอาหารใดๆ ไว้ในเป้เป็นอันขาด เพราะจะทำให้เกิดกลิ่นเหม็นอับในเป้ และยังเป็นตัวเชิญชวนให้สัตว์ไม่พึงประสงค์เข้าไปอาศัยในเป้เราได้อีกด้วย
  • ทำความสะอาดเป้ทุกครั้งหลังจากการใช้งานในแต่ละทริป โดยการเอาของออกจากช่องและกระเป๋าต่างๆ ให้หมด และสะบัดเพื่อให้เศษดิน เศษทราย หรือเศษขยะเล็กๆ น้อยๆ ต่างๆ หลุดออกมา หากเป้ของคุณสกปรกมากจริงๆ ก็อาจจะใช้ฟองน้ำชุบน้ำสบู่อ่อนๆ เช็ดทำความสะอาดได้ หลังจากนั้นก็ให้วางผึ่งลมเอาไว้จนแห้ง ไม่ควรจะวางตากแดดตรงๆ เพราะแสงแดดและรังสียูวีจะทำลายเนื้อผ้าไนล่อนได้ในเวลาอันสั้น
  • คอยดูแลรักษาเป้อยู่เสมอ หากขาดที่ใดก็คอยเย็บซ่อมแซมให้ดีเหมือนเดิม และหากสายหรือเชือกไนล่อนหลุดลุ่ยในตอนปลายก็สามารถซ่อมได้โดยการเอาไฟลน ด้านปลาย

    ชุดซ่อมแซมเป้ ชิ้นส่วนต่าง ๆ หากเสียหายสามารถเปลี่ยนได้

  • หมั่นตรวจสอบเป้อยู่เสมอ ว่าในบริเวณที่ใช้งานหนักๆ เช่น บริเวณช่วงต่อของสายสะพายบ่ากับตัวเป้ทั้งด้านบนและด้านล่าง บริเวณช่วงต่อของสายรัดสะโพกกับตัวเป้ หรือบริเวณซิป มีปัญหาอะไรหรือไม่ หากเริ่มมีรอยขาดเพียงเล็กน้อยก็ควรจะรีบซ่อมแซมก่อนที่รอยขาดเหล่านั้นจะ บานปลาย เพราะจุดที่สำคัญต่างๆ เหล่านี้มามีปัญหาหรือขาดเอาตอนที่เราเดินอยู่กลางป่าก็คงจะเป็นเรื่องที่ ไม่น่าสนุกนัก
  • เก็บเป้ไว้ในที่ๆ แห้ง ไม่โดนแดด และมีอากาศถ่ายเทที่ดี เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดราน้ำค้าง เพราะราพวกนี้จะทำลายสารกันน้ำที่เคลือบตัวเป้เอาไว้
thank http://www.mrbackpacker.com/gear/gear_35.html

วิธีการเลือกซื้อเป้

ในตลาดทั่วไปมีเป้ดีๆ อยู่หลายยี่ห้อ ผู้ผลิตแต่ละรายก็ล้วนแล้วแต่ทุ่มเท ค้นคว้า ออกแบบและผลิตเป้ที่มีคุณภาพออกมาทั้งนั้น แต่สิ่งสำคัญนั้นอยู่ที่ว่าเป้แต่ละใบนั้น ต่างก็เหมาะสำหรับผู้ใช้แต่ละคนแตกต่างกันออกไปนั่นเอง ดังนั้น เป้ที่ดีคือเป้ที่เราสะพายแล้วรู้สึกสบายที่สุด นอกจากเราควรจะต้องลองสะพายเป้ด้วยตัวเองในเวลาเลือกซื้อ เพื่อให้มั่นใจว่ามีความเหมาะสมกับตัวเราแล้ว นอกจากนี้ยังมีข้อควรพิจารณาอื่นๆ อีกหลายอย่าง ดังนี้

1. ความจุของตัวเป้ (Capacity of the Pack)

ก่อนอื่นควรจะต้องรู้ว่าคุณมักจะเดินทางท่องเที่ยวลักษณะใด เดินป่าระยะสั้นหรือเดินป่าครั้งละเป็นสัปดาห์ สภาพอากาศหนาวหรือร้อน จำเป็นต้องเอาอุปกรณ์กันหนาวหรืออุปกรณ์พิเศษอื่นๆ ติดตัวไปด้วยหรือไม่ หรือว่าคุณต้องแบกอุปกรณ์ทำครัวหรือของส่วนกลางมากน้อยเพียงใด แต่ข้อสำคัญอย่างหนึ่งคือ ไม่ควรซื้อเป้ที่มีขนาดใหญ่เกินความต้องการ เพราะโดยทั่วๆ ไปแล้ว ธรรมชาติของคนเรา หากมีที่เหลือก็มักจะใส่ของเพิ่มเข้าไปอีกเรื่อยๆ จนกว่าจะเต็ม ซึ่งอาจจะทำให้คุณต้องแบกสัมภาระหนักเกินไปทั้งๆ ที่ไม่ได้มีความจำเป็นมากมายเลยก็ได้

30-50 ลิตร เป้ขนาดนี้เหมาะสำหรับการเดินป่าท่องเที่ยวในระยะ สั้นๆ เช่น การท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือการท่องเที่ยวไปในเส้นทางที่ไม่จำเป็นต้องแบกอุปกรณ์พิเศษอะไรเข้าไปมาก นัก นอกจากถุงนอนใบเล็กๆ เต็นท์หรือเปล และอุปกรณ์ทำอาหารทั่วๆ ไป
50-70 ลิตร สำหรับคนที่ต้องการเดินป่ามากกว่าในระยะเวลาประมาณ 2-4 วัน ควรจะลองพิจารณาเป้ขนาดนี้ดูเพราะเพียงพอที่จะใส่อุปกรณ์ทุกอย่างที่จำเป็น สำหรับการเดินป่าในช่วงเวลานั้นๆ ได้ และเป้ไซส์นี้ก็เป็นที่นิยมสำหรับผู้หญิงที่จะใช้ในการเดินป่าหลายๆ วันด้วยเช่นกัน
70-100 ลิตร เป้ขนาดใหญ่นี้ เหมาะสำหรับที่จะใช้บนเส้นทางที่ยาวนานเป็นสัปดาห์ขึ้นไป หรือสำหรับผู้ที่ต้องเตรียมถุงนอนใบใหญ่หรือเสื้อกันหนาวหนาๆ ไปด้วย แต่สำหรับอากาศในบ้านเราอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เป้ขนาดใหญ่ขนาดนี้ก็ได้

ความจะของเป้ขึ้นกับการใช้งาน

2. ระบบช่วยในการสะพายและโครงของเป้ (Suspensions and Frames)

เป้บางรุ่นจะสามารถปรับระดับได้
ระบบ ที่ช่วยในการสะพายเป้นี้ประกอบไปด้วยบริเวณที่สำคัญสองส่วนคือสายสะพายบ่า (Shoulder Straps) และสายรัดสะโพก (Hip Belts) เป้ธรรมดาทั่วๆ ไปหรือเป้เดินป่าสมัยก่อนมักจะมีสายสะพายบ่ากับสายรัดสะโพกที่ตายตัว แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีการผลิตได้ก้าวหน้าไปมาก ผู้ผลิตต่างก็พยายามพัฒนาเป้เดินป่าของตนให้ล้ำหน้าและเหมาะกับการใช้งานมาก ขึ้น มีผู้ผลิตหลายรายที่ผลิตเป้เดินป่าที่สามารถปรับระดับสายสะพายบ่าและสายรัด สะโพกให้เหมาะกับผู้ใช้ได้ดีมากขึ้น ระบบที่สามารถปรับสายสะพายบ่าได้นี้แบ่งออกเป็นสองประเภทคือ
  • เป้ที่สามารถปรับระดับได้เต็มที่ (Fully Adjustable Suspension) ซึ่งเราจะสามารถเลื่อนระดับสายสะพายบ่าขึ้นลงในระดับใดก็ได้ให้พอเหมาะกับ ขนาดลำตัวของเราได้เป็นอย่างดี โดยมักจะปรับระดับลำตัวได้ตั้งแต่ 14 – 21 นิ้ว
  • เป้ที่สามารถปรับระดับได้ตามช่วงที่กำหนดไว้ (Certain Size Ranges) ซึ่งมักจะแบ่งออกเป็นขนาดเล็ก (14-16 นิ้ว) กลาง (17-19 นิ้ว) และใหญ่ (20 นิ้วขึ้นไป)

นอกจากนี้ ผู้ผลิตบางรายยังได้มีการผลิตเป้แบบพิเศษสำหรับคนที่มีขนาดลำตัวไม่มาตรฐาน โดยอาจจะมีความยาวลำตัวมากกว่าคนปกติหรือน้อยกว่าคนปกติมากๆ ด้วยเช่นกัน

3. ขนาดความยาวของลำตัว (Torso Size)

เหตุที่เราจำเป็นจะต้องพิจารณาเรื่องขนาดความยาวของลำตัวของ เราในเวลาเลือกซื้อเป้ด้วยนั้น ก็เนื่องจากในปัจจุบัน ผู้ผลิตมักจะออกแบบเป้มาให้ช่วยในการผ่อนแรงและอำนวยความสะดวกกับผู้ใช้มาก ขึ้นเรื่อยๆ หากเราใช้เป้ที่มีขนาดใหญ่เกินไป จะทำให้สายรัดสะโพกไม่อยู่ในระดับที่ควรจะเป็น คือจะอยู่ต่ำกว่าสะโพกเรามากเกินไป ซึ่งจะทำให้ไม่ช่วยในการผ่อนน้ำหนักได้เลย และอาจจะยังทำให้เป้กระแทกหลังเราตลอดเวลาที่เดินอยู่ด้วย หากเป้มีขนาดเล็กเกินไป สายสะพายบ่าก็อาจจะรัดช่วงบ่าเนื่องจากความกว้างช่วงบ่าอาจจะเล็กเกินไปจนทำ ให้เกิดการบาดเจ็บได้ และเป้อาจจะรั้งและถ่วงไปด้านหลังมากเกินไปอีกด้วย

โดยปรกติแล้วความยาวของลำตัวตามมาตรฐานของเป้ที่มีจำหน่ายจะมีอยู่ 3 ขนาดคือ

  • ขนาดเล็ก ไม่เกิน 17.5 นิ้ว
  • ขนาดกลาง 18-19.5 นิ้ว
  • ขนาดใหญ่ มากกว่า 20 นิ้ว

เป้หลายยี่ห้อจะมีขนาดให้เลือกตามความยาวของลำตัว แต่เป้ที่ผลิตในบ้านเรายังไม่ค่อยจะมีให้เลือกขนาดสักเท่าไหร่ส่วนใหญ่จะมี ขนาดเดียวในเป้แต่ละรุ่น ส่วนเป้ที่นำเข้าจากต่างประเทศและมีขนาดให้เลือกก็พอจะมีให้เห็นบ้างแต่ไม่ มากนัก

การวัดความยาวลำตัว



4. ทดลองปรับระดับการสะพายเป้ (Adjusting the Suspension)

ตำแหน่งสายรัดสะโพก
เมื่อ คุณไปเลือกซื้อเป้ที่ร้าน จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะต้องทดลองสะพายดูด้วย ร้านที่ดีจะต้องอนุญาตให้ลูกค้าทดลองสะพายเป้และต้องมีหมอนหรืออุปกรณ์ บางอย่างมาทดลองใส่เป้ให้เราได้ทดสอบกับน้ำหนักที่ใกล้เคียงกับเวลาเดินป่า จริงด้วย สิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องทดสอบก็คือสายรัดสะโพก เป้ที่เหมาะกับตัวเราจะต้องมีสายรัดสะโพกที่สามารถรัดได้พอดีกับระดับกระดูก เชิงกราน ซึ่งจะทำให้น้ำหนักของเป้ได้ถ่ายเทมาที่สะโพกของเรา ไม่ไปตกเป็นภาระหนักอยู่ที่บ่าของเราเพียงที่เดียว หากระดับของสายรัดสะโพกอยู่สูงหรือต่ำเกินไปก็จะเกิดผลเสียดังที่ได้กล่าวไป แล้วในข้อ 3

5. สายสะพายบ่า (Shoulder Straps)

ส่วนที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือสายสะพายบ่า ควรจะเลือกเป้ที่เมื่อลองสะพายดูแล้ว สายสะพายแต่ละข้างอยู่ในระดับกึ่งกลางกระดูกไหปลาร้าพอดี หากเป้มีช่วงกว้างที่แคบเกินไปจะทำให้เมื่อสะพายแล้วสายสะพายบ่าจะอยู่ชิด กับคอมากเกินไป จะรู้สึกรำคาญในขณะเดินและยังทำให้ปวดกล้ามเนื้อบริเวณบ่าอีกด้วย หากเป้มีช่วงกว้างมากเกินไปก็อาจจะทำให้เป้มักจะเลื่อนหลุดได้ง่ายๆ และยังไม่ช่วยรับน้ำหนักได้อีกด้วย

6. วัสดุที่ใช้ทำเป้ (Materials)

วัสดุที่ใช้ผลิตเป้ส่วนใหญ่มักจะเป็นวัสดุที่กันน้ำ และจะต้องเป็นวัสดุที่แข็งแรงทนทาน แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีน้ำหนักเบาอีกด้วย ที่นิยมกันมากคือ Cordura และ Ripstop ซึ่งแบบ Ripstop นี้ หลายๆ คนลงความเห็นว่ามีความแข็งแรงทนทานต่อการขีดข่วนได้มาก สำหรับในบริเวณที่คาดว่าจะมีการขีดข่วนหรือเสียดสีมากๆ ก็จะเปลี่ยนไปใช้ไนล่อนที่มีความแข็งแรงทนทานมากขึ้นไปอีก เช่น Ironcloth, Spectra และ Pack Cloth นอกจากนี้ เป้ส่วนใหญ่ยังมีบางบริเวณที่ทำจากตาข่ายยืดหรือโฟมที่มีการระบายอากาศสูง เพื่อช่วยให้แผ่นหลังของเรามีการระบายอากาศได้ดีขึ้น

ข้อพึงระวัง

ในการเลือกซื้อเป้ทุกครั้ง คุณควรจะต้องได้ลองสะพายและสัมผัสด้วยตนเอง หากเป็นไปได้ไม่ควรจะซื้อผ่านอินเทอร์เน็ตโดยยังไม่ได้ลองสะพายดูก่อน แต่หากคุณจะซื้อผ่านอินเทอร์เน็ตก็ควรจะแน่ใจด้วยว่าร้านนั้นมีนโยบายที่จะ ให้ลูกค้าคืนสินค้าหรือเปลี่ยนได้


thank http://www.mrbackpacker.com/gear/gear_34.html

ส่วนประกอบของเป้

ในส่วนนี้จะขอเน้นในเรื่องของส่วนประกอบของเป้โครงใน เพราะถึงแม้จะมีข้อเสียอยู่บ้างบางประการ แต่เนื่องจากความคล่องตัวที่มีมากกว่าเป้โครงนอก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเดินป่าในเมืองไทย เป้โครงในจึงเป็นที่นิยมกันมากขึ้น และผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศก็ยังมีการค้นคว้าเพื่อพัฒนาการผลิตเป้โครงใน ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย

สำหรับบางคน อาจจะเห็นว่าเป้โครงในมักจะมีสายรัดต่างๆ มากมาย ซึ่งบางครั้งอาจจะมองว่าเกะกะ แต่จริงๆ แล้ว สายรัดต่างๆ เหล่านี้ได้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและความคล่องตัวในการเดินป่า มากที่สุด เช่น

  • สายปรับระดับตัวเป้ (Upper Straps) ซึ่งใช้สำหรับปรับยึดที่สะพายบ่ากับตัวเป้ให้กระชับมากที่สุดขณะเดิน
  • สายรัดอก (Sternum Straps) ซึ่งยึดที่สะพายบ่าทั้งสองข้าง ทำให้เป้ไม่เหวี่ยงไปมาเวลาเดิน
  • สายรัดเป้ (Compression Straps) ซึ่งอยู่ด้านข้างทั้งสองข้างของตัวเป้ ช่วยรัดให้เป้มีขนาดเล็กและกระชับ หรือสามารถรัดของเบาๆ ไว้ด้านนอกตัวเป้ได้ด้วย

อย่างไรก็ดี ยังมีส่วนประกอบอื่นๆ ที่สำคัญกว่าสายรัดต่างๆ เหล่านี้อีกมาก เวลาเลือกซื้อเป้ เราควรจะพิจารณาที่ส่วนประกอบสำคัญเหล่านี้เป็นพิเศษ ซึ่งได้แก่

1.สายรัดสะโพก (Hipbelt)

สายรัดสะโพกที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับเป้เดินป่านั้น จะแตกต่างจากสายรัดเอวของเป้ที่ใช้ธรรมดาที่ไม่มีโครงทั่วๆ ไป ที่เป็นเพียงเส้นบางๆ สายรัดสะโพกสำหรับเป้เดินป่าจะมีลักษณะหนาและนุ่มกว่ามาก โดยมีการบุข้างในด้วยวัสดุหลายชั้น เช่น โฟมที่มีความแข็งขึ้นรูป และโฟมอีกชนิดที่มีความนุ่มกว่าและให้ความยืดหยุ่นมากกว่า ซึ่งเอาไว้รองรับการกระแทกระหว่างน้ำหนักของเป้กับสะโพกของเรา สายรัดสะโพกที่พอดีควรจะสามารถรัดได้ในระดับสะโพกตรงบริเวณกระดูกเชิงกราน ซึ่งจะเป็นจุดที่ช่วยในการถ่ายน้ำหนักได้ดีที่สุด เวลาเลือกซื้อเป้ควรจะให้ความสำคัญในส่วนของสายรัดสะโพกให้มาก เพราะหากวัสดุที่บุด้านในนิ่มหรือบางเกินไป อาจจะใช้ช่วยในการรองรับแรงกระแทกได้ไม่มากนัก ซึ่งจะทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเป็นแผลบริเวณสะโพกได้ หรือหากวัสดุที่บุด้านในสายรัดสะโพกแข็งเกินไป ก็อาจจะทำให้เกิดบาดแผลกับสะโพกได้เช่นกัน

เป้เดินป่าบางรุ่น จะออกแบบมาให้สามารถจะเปลี่ยนสายรัดสะโพกได้ตามความต้องการของเรา หรือบางรุ่นอาจจะสามารถปรับมุมของสายรัดให้เข้ากับเราได้มากที่สุดอีกด้วย เมื่อคาดสายรัดสะโพก ควรจะปรับให้พอดีกับสะโพก ไม่หลวมเกินไปจนไม่ช่วยในการกระจายน้ำหนักลงที่สะโพก หรือไม่แน่นจนเกินไป จนอาจจะทำให้เกิดการเสียดสีสะโพกมากจนเกินไปได้

2. สายสะพายบ่า (Shoulder straps)

ที่สะพายบ่าสำหรับเป้โครงในรุ่นใหม่ มักจะมีความหนานุ่ม และบุด้วยวัสดุที่คล้ายคลึงกับวัสดุที่บุในสายรัดสะโพกเช่นกัน เพื่อช่วยลดแรงกดกระแทกกับบ่าของเรา ไม่ทำให้เกิดการเสียดสี หรือเกิดความเจ็บปวดมากจนทำให้การเดินป่ากลายเป็นความทรมานไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเหงื่อออกมากๆ ในเป้รุ่นใหม่ๆ บางรุ่น (ส่วนมากมักจะเป็นของต่างประเทศ) จะสามารถปรับระดับของที่สะพายบ่าได้ตามความสูงของผู้สะพายอีกด้วย

3. แผ่นรองหลัง (Framesheet)

เป้โครงในจะมีแผ่นรองหลังเพิ่มเติม ซึ่งเป็นแผ่นพลาสติกแข็งๆ บางๆ กั้นระหว่างตัวเป้กับแผ่นหลังของเรา โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยลดการกระแทกระหว่างของที่อยู่ในเป้กับหลังของเรา เป้บางรุ่นอาจจะมีผ้าตาข่ายหรือแผ่นโฟมบางๆ ติดอยู่ที่เป้บริเวณใกล้กับกึ่งกลางหลังของเรา เพื่อช่วยให้เกิดการระบายอากาศได้ดีขึ้นอีกด้วย

4. ตัวเป้ (Packbags)

ส่วนใหญ่แล้ว สิ่งที่จะพิจารณาก็คือเนื้อผ้าหรือวัสดุที่ใช้ทำเป้ ซึ่งปัจจุบันนี้นิยมใช้เนื้อผ้าที่เป็นไนล่อน เนื่องจากมีน้ำหนักเบา แข็งแรงทนทาน และส่วนมากแล้วจะสามารถต้านทานการขีดข่วนได้ในระดับหนึ่ง และบางรุ่นยังกันน้ำได้อีกด้วย (ที่ว่ากันน้ำได้นั้น น่าจะหมายถึงตัววัสดุที่ใช้มีสารเคลือบกันน้ำได้ ในกรณีที่ฝนตกปรอยๆ หรือโดนน้ำกระเซ็นใส่เล็กน้อย ... แต่ถ้าเป้ตกน้ำหรือวางตากฝนทิ้งไว้ ก็คงจะไม่สามารถกันน้ำได้ร้อยเปอร์เซ็นต์แน่ๆ เพราะน้ำสามารถจะเข้าไปตามรอยต่อหรือฝากระเป๋า หรือซิปต่างๆ ได้)

ส่วนมากแล้วข้อเสียของเป้โครงในก็คือการมีช่องเก็บของในตัวเป้ เพียงช่องเดียว ซึ่งทำให้การค้นหาของระหว่างการเดินทางทำได้ลำบาก แต่เป้โครงในรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้มักจะออกแบบให้มีช่องเก็บถุงนอนแยกต่าง หากอยู่ด้านล่างของตัวเป้ และอาจจะเชื่อมกับช่องเก็บของใหญ่ของตัวเป้โดยมีชั้นกั้นเอาไว้และสามารถรูด ซิปเปิดปิดได้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาไปได้เหมือนกัน เพราะถุงนอนเป็นอุปกรณ์ที่ค่อนข้างจะต้องการพื้นที่เก็บมากพอสมควร

5. อุปกรณ์เสริม

เป้โครงในรุ่นใหม่ๆ มักจะมีการเพิ่มอุปกรณ์เสริมต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้มากขึ้น เช่น

  • กระเป๋าลูก (Detachable pocket)
    เป้โครงในหลายรุ่น ออกแบบมาโดยการเพิ่มกระเป๋าลูกใบเล็กแปะไว้ด้านหน้าของตัวเป้อีกชั้น ซึ่งจะสามารถแยกชิ้นส่วนออกมาเป็นเป้ใบเล็กที่เหมาะสำหรับการเดินเที่ยวใน ระยะสั้นๆ หรือเดินสำรวจรอบบริเวณ เมื่อเราไปถึงที่พักแล้ว
  • กระเป๋าเก็บขวดน้ำ (Water-bottle holders/hydration pockets)
    เป้โครงนอกส่วนใหญ่จะมีกระเป๋าข้างมากกว่าเป้โครงใน ซึ่งสะดวกสำหรับการเก็บขวดน้ำหรืออุปกรณ์จำเป็นต่างๆ แม้เป้โครงในส่วนใหญ่จะไม่มีกระเป๋าด้านนอกมากนัก แต่เป้โครงในรุ่นใหม่ๆ ก็เริ่มมีการพัฒนาเพิ่มที่เก็บขวดน้ำด้านนอกตัวเป้ เช่น ทำกระเป๋าตาข่ายที่เป็นยางยืดไว้ด้านข้าง ซึ่งสามารถจะเก็บขวดน้ำเล็กๆ ไว้ได้ หรือบางรุ่นได้มีการพัฒนาให้มีที่เก็บน้ำติดกับตัวเป้ไว้เลย โดยเราสามารถจะดื่มน้ำได้จากหลอดที่ต่อท่อยาวออกมาจากที่เก็บน้ำนั้นได้ (คล้ายๆ กระเป๋าน้ำของนักปั่นจักรยานเสือภูเขา)
thank http://www.mrbackpacker.com/gear/gear_10.html

ชนิดและประเภทของเป้

ปัญหาสำคัญข้อหนึ่งที่ผู้เริ่มต้นเดินป่าแทบทุกคนประสบก็คือ "การเลือกเป้" ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการเดินป่าเลยทีเดียว ส่วนใหญ่แล้วจะไม่แน่ใจว่าควรจะใช้เป้แบบใด ขนาดไหน เวลาจะซื้อต้องดูที่อะไรบ้าง หรือแม้แต่จะซื้อยี่ห้ออะไรดี สำหรับผู้เคยมีประสบการณ์เดินป่ามาก่อนแล้ว และอยากจะได้เป้ใบใหม่ ก็อาจจะพอทราบความต้องการของตัวเอง โดยอาศัยประสบการณ์จากการใช้เป้ใบเก่าว่ามีข้อเสียตรงไหนบ้าง แต่สำหรับมือใหม่ จะเลือกยังไงดีล่ะ?

วิธีที่ง่ายที่สุดก็คงจะเป็นการถามไถ่ผู้รู้ หรือผู้ที่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แต่หลายคนก็คงหลายความคิด ความชอบก็คงจะต่างกันไป อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดในการตัดสินใจซื้อเป้ก็คือ ควรจะต้องลองแบกดูก่อน เพื่อกะขนาดน้ำหนัก และความพอดีกับตัวของเรา เพราะในการเดินป่านั้น ความคล่องตัวเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง บางครั้งอาจจะต้องมีทั้งการปีนป่าย มุด ลอด โหน กระโดด ฯลฯ จึงจำเป็นที่จะต้องเลือกเป้ที่คิดว่าพอดี สะดวกสบาย และให้ความคล่องตัวกับเรามากที่สุด

เป้ที่ออกแบบมาสำหรับใช้ในการเดินป่าระยะไกลที่จำเป็นจะต้อง เข้าไปนอนค้างแรมในป่า หรือการเดินป่าตั้งแต่สองวันขึ้นไปนั้น จะเป็นเป้มีโครง ซึ่งออกแบบโดยช่วยให้มีการถ่ายเทน้ำหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยแบ่งน้ำหนักของเป้ไปตามจุดต่างๆ ของร่างกาย เพื่อไม่ให้บ่ารับน้ำหนักมากเกินไป เป้มีโครงจะมีอยู่สองประเภท คือ เป้โครงนอก และเป้โครงใน

1. เป้โครงนอก

เป้โครงนอก
เป้ ที่ใช้กันในสมัยแรกๆ คือเป้โครงนอก ซึ่งจะมีลักษณะที่ค่อนข้างใหญ่กว่าเป้โครงใน บางคนอาจจะเห็นว่าค่อนข้างใหญ่และเทอะทะ ตัวโครงของเป้โครงนอกส่วนมากจะทำจากท่ออลูมิเนียมและอยู่ด้านนอกของตัวเป้ ส่วนใหญ่เป้โครงนอกจะออกแบบให้มีการถ่ายน้ำหนักทั้งหมดลงไปที่สะโพกของผู้ สะพาย

ข้อดีของเป้โครงนอกคือ ระหว่างตัวเป้กับแผ่นหลังของผู้สะพาย พอจะมีช่องว่างให้อากาศถ่ายเทได้มากกว่าเป้โครงใน ทำให้มีการระบายอากาศดีกว่า และไม่รู้สึกอบหรือร้อนมากนัก เป้โครงนอกส่วนใหญ่จะมีช่องเล็กช่องน้อยสำหรับเก็บของมากกว่าเป้โครงใน ทำให้สามารถแยกเก็บของเป็นสัดเป็นส่วนและสะดวกต่อการค้นหาและนำมาใช้งาน ข้อสำคัญ เป้โครงนอกมักจะราคาถูกกว่าเป้โครงใน

แต่เป้โครงนอกก็ยังมีจุดอ่อนสำคัญที่น่าจะต้องคำนึงถึงคือ เป้โครงนอกไม่ค่อยมีความยืดหยุ่นมากนัก เนื่องจากตัวโครงที่ค่อนข้างแข็ง ไม่ยืดหยุ่น และไม่กระชับพอดีกับแผ่นหลัง ทำให้เวลาสะพายเดินป่า เราจะรู้สึกไม่ค่อยคล่องตัวนัก เหมือนกับต้องเดินหลังแข็งไปตลอดทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาจำเป็นต้องเดินบุกป่าฝ่าดงที่รกๆ ซึ่งป่าเมืองไทยส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะนี้ เนื่องจากเป้เหล่านี้ออกแบบมาจากต่างประเทศ และการเดินป่าในต่างประเทศส่วนใหญ่มักจะมีการจัดเตรียมเส้นทางเพื่ออำนวย ความสะดวกให้นักท่องเที่ยวไว้แล้ว และมีทางเดินที่ค่อนข้างกว้างจึงไม่เป็นอุปสรรคมากเท่ากับการเดินป่าในไทย

จากคุณสมบัติและข้อดีข้อเสียของเป้โครงนอก จึงพอจะสรุปแนะนำได้คร่าวๆ ว่า เป้โครงนอกนั้น อาจจะเหมาะสำหรับการเดินป่าในเส้นทางที่ค่อนข้างสบาย ไม่ยากลำบากหรือรกมากเกินไปนัก และอาจจะเหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มเดินป่าใหม่ๆ ที่อาจจะยังไม่แน่ใจตัวเองนักว่าชอบการเดินป่าจริงๆ หรือไม่ เนื่องจากราคาที่ค่อนข้างจะถูกกว่ามาก เพราะหากลองเดินป่าครั้งแรกแล้วรู้สึกไม่ชอบหรือไม่ประทับใจอย่างที่คิดจะ ได้ไม่เสียดายมากนัก

2. เป้โครงใน

เป้โครงใน
เป้ โครงในจะมีลักษณะเพรียวกว่าเป้โครงนอก วัสดุที่ใช้เป็นโครงส่วนใหญ่จะเป็นวัสดุประเภทอลูมิเนียมหรือไฟเบอร์ มักจะกว้างประมาณ 1 นิ้ว และไม่หนามาก ตัวโครงจะหุ้มด้วยโฟมอีกชั้นหนึ่งและซ่อนไว้ในตัวเป้ด้านที่สัมผัสกับหลัง ของผู้สะพาย และบางแบบจะสามารถปรับระดับความสูงให้เข้ากับลำตัวของผู้สะพายได้ โครงสร้างของเป้โครงในนั้น จะออกแบบให้ช่วยในการกระจายน้ำหนักของเป้ไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งได้แก่ ไหล่ หลัง และสะโพก

ข้อดีของเป้โครงในมีหลายประการด้วยกัน ประการแรกคือ มีความยืดหยุ่นสูงเพราะถึงแม้ว่าตัวโครงจะแข็งแรงทนทาน แต่ไม่ถึงกับแข็งกระด้างเหมือนโครงของเป้โครงนอก ประการที่สอง เป้โครงในช่วยรักษาสมดุลและความมั่นคงในการเดินให้กับผู้สะพายได้เป็นอย่าง ดี เนื่องจากเป้โครงในทั่วไปมักจะออกแบบให้มีสายสำหรับรัดอุปกรณ์ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้มากที่สุด จึงทำให้สามารถเก็บอุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างรัดกุม ไม่ส่ายไปมาระหว่างการเดิน นอกจากนี้ เป้โครงในยังให้ความคล่องตัวสูงเนื่องจากรูปแบบที่ค่อนข้างจะเล็กและกระชับ กว่าเป้โครงนอก และเป้โครงในยังสามารถปรับให้เข้ากับผู้ใช้ได้ดีกว่าเป้โครงนอกด้วย เช่น การปรับสายรัดที่สะโพก และการปรับระดับของที่สะพายไหล่ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ข้อเสียของเป้โครงในก็ยังมีบางประการเช่นกัน อย่างแรกคือ เป้โครงในส่วนมากมักจะมีช่องเก็บของด้านในตัวเป้เพียงช่องเดียว เป้รุ่นใหม่อาจจะมีชั้นแยกที่เก็บถุงนอนกั้นไว้ด้านล่างของตัวเป้ แต่นอกนั้น ของต่างๆ จะเก็บรวมกันในช่องใหญ่เพียงช่องเดียว ซึ่งบางครั้ง จะทำให้ลำบากเวลาต้องการค้นหาของบางอย่าง แต่ปัญหานี้ก็อาจจะไม่หนักหนามาก หากคุณมีประสบการณ์ในการเดินป่ามากขึ้น ก็จะทำให้พอจะรู้เทคนิคในการแพ็คของว่าควรจะวางอะไรไว้ตรงไหนบ้าง ข้อเสียประการถัดมาก็คือ เป้โครงในส่วนใหญ่จะออกแบบมาให้กระชับพอดีกับแผ่นหลังของผู้สะพาย ทำให้ไม่ค่อยมีที่สำหรับการระบายอากาศ ซึ่งอาจจะทำให้คุณรู้สึกร้อน และอาจจะเกิดความระคายเคืองได้หากคุณเป็นคนขี้ร้อนและแพ้เหงื่อง่าย ประการสุดท้ายคือ เป้โครงในส่วนใหญ่มักจะมีราคาแพงกว่าเมื่อเทียบกับเป้โครงนอกขนาดเท่ากัน



thank http://www.mrbackpacker.com/gear/gear_10.html

Camping Gear

1.เป้เดินป่า
1.1ชนิดและประเภทของเป้
ปัญหาสำคัญข้อหนึ่งที่ผู้เริ่มต้นเดินป่าแทบทุกคนประสบก็คือ "การเลือกเป้" ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการเดินป่าเลยทีเดียว ส่วนใหญ่แล้วจะไม่แน่ใจว่าควรจะใช้เป้แบบใด ขนาดไหน เวลาจะซื้อต้องดูที่อะไรบ้าง หรือแม้แต่จะซื้อยี่ห้ออะไรดี สำหรับผู้เคยมีประสบการณ์เดินป่ามาก่อนแล้ว และอยากจะได้เป้ใบใหม่ ก็อาจจะพอทราบความต้องการของตัวเอง โดยอาศัยประสบการณ์จากการใช้เป้ใบเก่าว่ามีข้อเสียตรงไหนบ้าง แต่สำหรับมือใหม่ จะเลือกยังไงดีล่ะ?

วิธีที่ง่ายที่สุดก็คงจะเป็นการถามไถ่ผู้รู้ หรือผู้ที่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แต่หลายคนก็คงหลายความคิด ความชอบก็คงจะต่างกันไป อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดในการตัดสินใจซื้อเป้ก็คือ ควรจะต้องลองแบกดูก่อน เพื่อกะขนาดน้ำหนัก และความพอดีกับตัวของเรา เพราะในการเดินป่านั้น ความคล่องตัวเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง บางครั้งอาจจะต้องมีทั้งการปีนป่าย มุด ลอด โหน กระโดด ฯลฯ จึงจำเป็นที่จะต้องเลือกเป้ที่คิดว่าพอดี สะดวกสบาย และให้ความคล่องตัวกับเรามากที่สุด

เป้ที่ออกแบบมาสำหรับใช้ในการเดินป่าระยะไกลที่จำเป็นจะต้อง เข้าไปนอนค้างแรมในป่า หรือการเดินป่าตั้งแต่สองวันขึ้นไปนั้น จะเป็นเป้มีโครง ซึ่งออกแบบโดยช่วยให้มีการถ่ายเทน้ำหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยแบ่งน้ำหนักของเป้ไปตามจุดต่างๆ ของร่างกาย เพื่อไม่ให้บ่ารับน้ำหนักมากเกินไป เป้มีโครงจะมีอยู่สองประเภท คือ เป้โครงนอก และเป้โครงใน

1.2 เป้โครงนอก เป้ที่ใช้กันในสมัยแรกๆ คือเป้โครงนอก ซึ่งจะมีลักษณะที่ค่อนข้างใหญ่กว่าเป้โครงใน บางคนอาจจะเห็นว่าค่อนข้างใหญ่และเทอะทะ ตัวโครงของเป้โครงนอกส่วนมากจะทำจากท่ออลูมิเนียมและอยู่ด้านนอกของตัวเป้ ส่วนใหญ่เป้โครงนอกจะออกแบบให้มีการถ่ายน้ำหนักทั้งหมดลงไปที่สะโพกของผู้ สะพาย

ข้อดีของเป้โครงนอกคือ ระหว่างตัวเป้กับแผ่นหลังของผู้สะพาย พอจะมีช่องว่างให้อากาศถ่ายเทได้มากกว่าเป้โครงใน ทำให้มีการระบายอากาศดีกว่า และไม่รู้สึกอบหรือร้อนมากนัก เป้โครงนอกส่วนใหญ่จะมีช่องเล็กช่องน้อยสำหรับเก็บของมากกว่าเป้โครงใน ทำให้สามารถแยกเก็บของเป็นสัดเป็นส่วนและสะดวกต่อการค้นหาและนำมาใช้งาน ข้อสำคัญ เป้โครงนอกมักจะราคาถูกกว่าเป้โครงใน

แต่เป้โครงนอกก็ยังมีจุดอ่อนสำคัญที่น่าจะต้องคำนึงถึงคือ เป้โครงนอกไม่ค่อยมีความยืดหยุ่นมากนัก เนื่องจากตัวโครงที่ค่อนข้างแข็ง ไม่ยืดหยุ่น และไม่กระชับพอดีกับแผ่นหลัง ทำให้เวลาสะพายเดินป่า เราจะรู้สึกไม่ค่อยคล่องตัวนัก เหมือนกับต้องเดินหลังแข็งไปตลอดทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาจำเป็นต้องเดินบุกป่าฝ่าดงที่รกๆ ซึ่งป่าเมืองไทยส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะนี้ เนื่องจากเป้เหล่านี้ออกแบบมาจากต่างประเทศ และการเดินป่าในต่างประเทศส่วนใหญ่มักจะมีการจัดเตรียมเส้นทางเพื่ออำนวย ความสะดวกให้นักท่องเที่ยวไว้แล้ว และมีทางเดินที่ค่อนข้างกว้างจึงไม่เป็นอุปสรรคมากเท่ากับการเดินป่าในไทย

จากคุณสมบัติและข้อดีข้อเสียของเป้โครงนอก จึงพอจะสรุปแนะนำได้คร่าวๆ ว่า เป้โครงนอกนั้น อาจจะเหมาะสำหรับการเดินป่าในเส้นทางที่ค่อนข้างสบาย ไม่ยากลำบากหรือรกมากเกินไปนัก และอาจจะเหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มเดินป่าใหม่ๆ ที่อาจจะยังไม่แน่ใจตัวเองนักว่าชอบการเดินป่าจริงๆ หรือไม่ เนื่องจากราคาที่ค่อนข้างจะถูกกว่ามาก เพราะหากลองเดินป่าครั้งแรกแล้วรู้สึกไม่ชอบหรือไม่ประทับใจอย่างที่คิดจะ ได้ไม่เสียดายมากนัก

1.3 เป้โครงใน เป้โครงในจะมีลักษณะเพรียวกว่าเป้โครงนอก วัสดุที่ใช้เป็นโครงส่วนใหญ่จะเป็นวัสดุประเภทอลูมิเนียมหรือไฟเบอร์ มักจะกว้างประมาณ 1 นิ้ว และไม่หนามาก ตัวโครงจะหุ้มด้วยโฟมอีกชั้นหนึ่งและซ่อนไว้ในตัวเป้ด้านที่สัมผัสกับหลัง ของผู้สะพาย และบางแบบจะสามารถปรับระดับความสูงให้เข้ากับลำตัวของผู้สะพายได้ โครงสร้างของเป้โครงในนั้น จะออกแบบให้ช่วยในการกระจายน้ำหนักของเป้ไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งได้แก่ ไหล่ หลัง และสะโพก

ข้อดีของเป้โครงในมีหลายประการด้วยกัน ประการแรกคือ มีความยืดหยุ่นสูงเพราะถึงแม้ว่าตัวโครงจะแข็งแรงทนทาน แต่ไม่ถึงกับแข็งกระด้างเหมือนโครงของเป้โครงนอก ประการที่สอง เป้โครงในช่วยรักษาสมดุลและความมั่นคงในการเดินให้กับผู้สะพายได้เป็นอย่าง ดี เนื่องจากเป้โครงในทั่วไปมักจะออกแบบให้มีสายสำหรับรัดอุปกรณ์ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้มากที่สุด จึงทำให้สามารถเก็บอุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างรัดกุม ไม่ส่ายไปมาระหว่างการเดิน นอกจากนี้ เป้โครงในยังให้ความคล่องตัวสูงเนื่องจากรูปแบบที่ค่อนข้างจะเล็กและกระชับ กว่าเป้โครงนอก และเป้โครงในยังสามารถปรับให้เข้ากับผู้ใช้ได้ดีกว่าเป้โครงนอกด้วย เช่น การปรับสายรัดที่สะโพก และการปรับระดับของที่สะพายไหล่ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ข้อเสียของเป้โครงในก็ยังมีบางประการเช่นกัน อย่างแรกคือ เป้โครงในส่วนมากมักจะมีช่องเก็บของด้านในตัวเป้เพียงช่องเดียว เป้รุ่นใหม่อาจจะมีชั้นแยกที่เก็บถุงนอนกั้นไว้ด้านล่างของตัวเป้ แต่นอกนั้น ของต่างๆ จะเก็บรวมกันในช่องใหญ่เพียงช่องเดียว ซึ่งบางครั้ง จะทำให้ลำบากเวลาต้องการค้นหาของบางอย่าง แต่ปัญหานี้ก็อาจจะไม่หนักหนามาก หากคุณมีประสบการณ์ในการเดินป่ามากขึ้น ก็จะทำให้พอจะรู้เทคนิคในการแพ็คของว่าควรจะวางอะไรไว้ตรงไหนบ้าง ข้อเสียประการถัดมาก็คือ เป้โครงในส่วนใหญ่จะออกแบบมาให้กระชับพอดีกับแผ่นหลังของผู้สะพาย ทำให้ไม่ค่อยมีที่สำหรับการระบายอากาศ ซึ่งอาจจะทำให้คุณรู้สึกร้อน และอาจจะเกิดความระคายเคืองได้หากคุณเป็นคนขี้ร้อนและแพ้เหงื่อง่าย ประการสุดท้ายคือ เป้โครงในส่วนใหญ่มักจะมีราคาแพงกว่าเมื่อเทียบกับเป้โครงนอกขนาดเท่ากัน

2.วิธีการเลือกซื้อเป้ ในตลาดทั่วไปมีเป้ดีๆ อยู่หลายยี่ห้อ ผู้ผลิตแต่ละรายก็ล้วนแล้วแต่ทุ่มเท ค้นคว้า ออกแบบและผลิตเป้ที่มีคุณภาพออกมาทั้งนั้น แต่สิ่งสำคัญนั้นอยู่ที่ว่าเป้แต่ละใบนั้น ต่างก็เหมาะสำหรับผู้ใช้แต่ละคนแตกต่างกันออกไปนั่นเอง ดังนั้น เป้ที่ดีคือเป้ที่เราสะพายแล้วรู้สึกสบายที่สุด นอกจากเราควรจะต้องลองสะพายเป้ด้วยตัวเองในเวลาเลือกซื้อ เพื่อให้มั่นใจว่ามีความเหมาะสมกับตัวเราแล้ว นอกจากนี้ยังมีข้อควรพิจารณาอื่นๆ อีกหลายอย่าง ดังนี้

2.1 ความจุของตัวเป้ (Capacity of the Pack)

ก่อนอื่นควรจะต้องรู้ว่าคุณมักจะเดินทางท่องเที่ยวลักษณะใด เดินป่าระยะสั้นหรือเดินป่าครั้งละเป็นสัปดาห์ สภาพอากาศหนาวหรือร้อน จำเป็นต้องเอาอุปกรณ์กันหนาวหรืออุปกรณ์พิเศษอื่นๆ ติดตัวไปด้วยหรือไม่ หรือว่าคุณต้องแบกอุปกรณ์ทำครัวหรือของส่วนกลางมากน้อยเพียงใด แต่ข้อสำคัญอย่างหนึ่งคือ ไม่ควรซื้อเป้ที่มีขนาดใหญ่เกินความต้องการ เพราะโดยทั่วๆ ไปแล้ว ธรรมชาติของคนเรา หากมีที่เหลือก็มักจะใส่ของเพิ่มเข้าไปอีกเรื่อยๆ จนกว่าจะเต็ม ซึ่งอาจจะทำให้คุณต้องแบกสัมภาระหนักเกินไปทั้งๆ ที่ไม่ได้มีความจำเป็นมากมายเลยก็ได้

30-50 ลิตร เป้ขนาดนี้เหมาะสำหรับการเดินป่าท่องเที่ยวในระยะ สั้นๆ เช่น การท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือการท่องเที่ยวไปในเส้นทางที่ไม่จำเป็นต้องแบกอุปกรณ์พิเศษอะไรเข้าไปมาก นัก นอกจากถุงนอนใบเล็กๆ เต็นท์หรือเปล และอุปกรณ์ทำอาหารทั่วๆ ไป
50-70 ลิตร สำหรับคนที่ต้องการเดินป่ามากกว่าในระยะเวลาประมาณ 2-4 วัน ควรจะลองพิจารณาเป้ขนาดนี้ดูเพราะเพียงพอที่จะใส่อุปกรณ์ทุกอย่างที่จำเป็น สำหรับการเดินป่าในช่วงเวลานั้นๆ ได้ และเป้ไซส์นี้ก็เป็นที่นิยมสำหรับผู้หญิงที่จะใช้ในการเดินป่าหลายๆ วันด้วยเช่นกัน
70-100 ลิตร เป้ขนาดใหญ่นี้ เหมาะสำหรับที่จะใช้บนเส้นทางที่ยาวนานเป็นสัปดาห์ขึ้นไป หรือสำหรับผู้ที่ต้องเตรียมถุงนอนใบใหญ่หรือเสื้อกันหนาวหนาๆ ไปด้วย แต่สำหรับอากาศในบ้านเราอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เป้ขนาดใหญ่ขนาดนี้ก็ได้

2.2 ระบบช่วยในการสะพายและโครงของเป้ (Suspensions and Frames)

เป้บางรุ่นจะสามารถปรับระดับได้
ระบบ ที่ช่วยในการสะพายเป้นี้ประกอบไปด้วยบริเวณที่สำคัญสองส่วนคือสายสะพายบ่า (Shoulder Straps) และสายรัดสะโพก (Hip Belts) เป้ธรรมดาทั่วๆ ไปหรือเป้เดินป่าสมัยก่อนมักจะมีสายสะพายบ่ากับสายรัดสะโพกที่ตายตัว แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีการผลิตได้ก้าวหน้าไปมาก ผู้ผลิตต่างก็พยายามพัฒนาเป้เดินป่าของตนให้ล้ำหน้าและเหมาะกับการใช้งานมาก ขึ้น มีผู้ผลิตหลายรายที่ผลิตเป้เดินป่าที่สามารถปรับระดับสายสะพายบ่าและสายรัด สะโพกให้เหมาะกับผู้ใช้ได้ดีมากขึ้น ระบบที่สามารถปรับสายสะพายบ่าได้นี้แบ่งออกเป็นสองประเภทคือ

* เป้ที่สามารถปรับระดับได้เต็มที่ (Fully Adjustable Suspension) ซึ่งเราจะสามารถเลื่อนระดับสายสะพายบ่าขึ้นลงในระดับใดก็ได้ให้พอเหมาะกับ ขนาดลำตัวของเราได้เป็นอย่างดี โดยมักจะปรับระดับลำตัวได้ตั้งแต่ 14 – 21 นิ้ว
* เป้ที่สามารถปรับระดับได้ตามช่วงที่กำหนดไว้ (Certain Size Ranges) ซึ่งมักจะแบ่งออกเป็นขนาดเล็ก (14-16 นิ้ว) กลาง (17-19 นิ้ว) และใหญ่ (20 นิ้วขึ้นไป)

นอกจากนี้ ผู้ผลิตบางรายยังได้มีการผลิตเป้แบบพิเศษสำหรับคนที่มีขนาดลำตัวไม่มาตรฐาน โดยอาจจะมีความยาวลำตัวมากกว่าคนปกติหรือน้อยกว่าคนปกติมากๆ ด้วยเช่นกัน

2.3 ขนาดความยาวของลำตัว (Torso Size)

เหตุที่เราจำเป็นจะต้องพิจารณาเรื่องขนาดความยาวของลำตัวของ เราในเวลาเลือกซื้อเป้ด้วยนั้น ก็เนื่องจากในปัจจุบัน ผู้ผลิตมักจะออกแบบเป้มาให้ช่วยในการผ่อนแรงและอำนวยความสะดวกกับผู้ใช้มาก ขึ้นเรื่อยๆ หากเราใช้เป้ที่มีขนาดใหญ่เกินไป จะทำให้สายรัดสะโพกไม่อยู่ในระดับที่ควรจะเป็น คือจะอยู่ต่ำกว่าสะโพกเรามากเกินไป ซึ่งจะทำให้ไม่ช่วยในการผ่อนน้ำหนักได้เลย และอาจจะยังทำให้เป้กระแทกหลังเราตลอดเวลาที่เดินอยู่ด้วย หากเป้มีขนาดเล็กเกินไป สายสะพายบ่าก็อาจจะรัดช่วงบ่าเนื่องจากความกว้างช่วงบ่าอาจจะเล็กเกินไปจนทำ ให้เกิดการบาดเจ็บได้ และเป้อาจจะรั้งและถ่วงไปด้านหลังมากเกินไปอีกด้วย

โดยปรกติแล้วความยาวของลำตัวตามมาตรฐานของเป้ที่มีจำหน่ายจะมีอยู่ 3 ขนาดคือ

* ขนาดเล็ก ไม่เกิน 17.5 นิ้ว
* ขนาดกลาง 18-19.5 นิ้ว
* ขนาดใหญ่ มากกว่า 20 นิ้ว

เป้หลายยี่ห้อจะมีขนาดให้เลือกตามความยาวของลำตัว แต่เป้ที่ผลิตในบ้านเรายังไม่ค่อยจะมีให้เลือกขนาดสักเท่าไหร่ส่วนใหญ่จะมี ขนาดเดียวในเป้แต่ละรุ่น ส่วนเป้ที่นำเข้าจากต่างประเทศและมีขนาดให้เลือกก็พอจะมีให้เห็นบ้างแต่ไม่ มากนัก

การวัดความยาวลำตัว



2.4 ทดลองปรับระดับการสะพายเป้ (Adjusting the Suspension)

ตำแหน่งสายรัดสะโพก
เมื่อ คุณไปเลือกซื้อเป้ที่ร้าน จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะต้องทดลองสะพายดูด้วย ร้านที่ดีจะต้องอนุญาตให้ลูกค้าทดลองสะพายเป้และต้องมีหมอนหรืออุปกรณ์ บางอย่างมาทดลองใส่เป้ให้เราได้ทดสอบกับน้ำหนักที่ใกล้เคียงกับเวลาเดินป่า จริงด้วย สิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องทดสอบก็คือสายรัดสะโพก เป้ที่เหมาะกับตัวเราจะต้องมีสายรัดสะโพกที่สามารถรัดได้พอดีกับระดับกระดูก เชิงกราน ซึ่งจะทำให้น้ำหนักของเป้ได้ถ่ายเทมาที่สะโพกของเรา ไม่ไปตกเป็นภาระหนักอยู่ที่บ่าของเราเพียงที่เดียว หากระดับของสายรัดสะโพกอยู่สูงหรือต่ำเกินไปก็จะเกิดผลเสียดังที่ได้กล่าวไป แล้วในข้อ 3

2.5 สายสะพายบ่า (Shoulder Straps)

ส่วนที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือสายสะพายบ่า ควรจะเลือกเป้ที่เมื่อลองสะพายดูแล้ว สายสะพายแต่ละข้างอยู่ในระดับกึ่งกลางกระดูกไหปลาร้าพอดี หากเป้มีช่วงกว้างที่แคบเกินไปจะทำให้เมื่อสะพายแล้วสายสะพายบ่าจะอยู่ชิด กับคอมากเกินไป จะรู้สึกรำคาญในขณะเดินและยังทำให้ปวดกล้ามเนื้อบริเวณบ่าอีกด้วย หากเป้มีช่วงกว้างมากเกินไปก็อาจจะทำให้เป้มักจะเลื่อนหลุดได้ง่ายๆ และยังไม่ช่วยรับน้ำหนักได้อีกด้วย

2.6 วัสดุที่ใช้ทำเป้ (Materials)

วัสดุที่ใช้ผลิตเป้ส่วนใหญ่มักจะเป็นวัสดุที่กันน้ำ และจะต้องเป็นวัสดุที่แข็งแรงทนทาน แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีน้ำหนักเบาอีกด้วย ที่นิยมกันมากคือ Cordura และ Ripstop ซึ่งแบบ Ripstop นี้ หลายๆ คนลงความเห็นว่ามีความแข็งแรงทนทานต่อการขีดข่วนได้มาก สำหรับในบริเวณที่คาดว่าจะมีการขีดข่วนหรือเสียดสีมากๆ ก็จะเปลี่ยนไปใช้ไนล่อนที่มีความแข็งแรงทนทานมากขึ้นไปอีก เช่น Ironcloth, Spectra และ Pack Cloth นอกจากนี้ เป้ส่วนใหญ่ยังมีบางบริเวณที่ทำจากตาข่ายยืดหรือโฟมที่มีการระบายอากาศสูง เพื่อช่วยให้แผ่นหลังของเรามีการระบายอากาศได้ดีขึ้น

ข้อพึงระวัง

ในการเลือกซื้อเป้ทุกครั้ง คุณควรจะต้องได้ลองสะพายและสัมผัสด้วยตนเอง หากเป็นไปได้ไม่ควรจะซื้อผ่านอินเทอร์เน็ตโดยยังไม่ได้ลองสะพายดูก่อน แต่หากคุณจะซื้อผ่านอินเทอร์เน็ตก็ควรจะแน่ใจด้วยว่าร้านนั้นมีนโยบายที่จะ ให้ลูกค้าคืนสินค้าหรือเปลี่ยนได้

3.ส่วนประกอบของเป้ ในส่วนนี้จะขอเน้นในเรื่องของส่วนประกอบของเป้โครงใน เพราะถึงแม้จะมีข้อเสียอยู่บ้างบางประการ แต่เนื่องจากความคล่องตัวที่มีมากกว่าเป้โครงนอก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเดินป่าในเมืองไทย เป้โครงในจึงเป็นที่นิยมกันมากขึ้น และผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศก็ยังมีการค้นคว้าเพื่อพัฒนาการผลิตเป้โครงใน ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย

สำหรับบางคน อาจจะเห็นว่าเป้โครงในมักจะมีสายรัดต่างๆ มากมาย ซึ่งบางครั้งอาจจะมองว่าเกะกะ แต่จริงๆ แล้ว สายรัดต่างๆ เหล่านี้ได้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและความคล่องตัวในการเดินป่า มากที่สุด เช่น

* สายปรับระดับตัวเป้ (Upper Straps) ซึ่งใช้สำหรับปรับยึดที่สะพายบ่ากับตัวเป้ให้กระชับมากที่สุดขณะเดิน
* สายรัดอก (Sternum Straps) ซึ่งยึดที่สะพายบ่าทั้งสองข้าง ทำให้เป้ไม่เหวี่ยงไปมาเวลาเดิน
* สายรัดเป้ (Compression Straps) ซึ่งอยู่ด้านข้างทั้งสองข้างของตัวเป้ ช่วยรัดให้เป้มีขนาดเล็กและกระชับ หรือสามารถรัดของเบาๆ ไว้ด้านนอกตัวเป้ได้ด้วย

3.1 สายรัดสะโพก (Hipbelt)


สายรัดสะโพกที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับเป้เดินป่านั้น จะแตกต่างจากสายรัดเอวของเป้ที่ใช้ธรรมดาที่ไม่มีโครงทั่วๆ ไป ที่เป็นเพียงเส้นบางๆ สายรัดสะโพกสำหรับเป้เดินป่าจะมีลักษณะหนาและนุ่มกว่ามาก โดยมีการบุข้างในด้วยวัสดุหลายชั้น เช่น โฟมที่มีความแข็งขึ้นรูป และโฟมอีกชนิดที่มีความนุ่มกว่าและให้ความยืดหยุ่นมากกว่า ซึ่งเอาไว้รองรับการกระแทกระหว่างน้ำหนักของเป้กับสะโพกของเรา สายรัดสะโพกที่พอดีควรจะสามารถรัดได้ในระดับสะโพกตรงบริเวณกระดูกเชิงกราน ซึ่งจะเป็นจุดที่ช่วยในการถ่ายน้ำหนักได้ดีที่สุด เวลาเลือกซื้อเป้ควรจะให้ความสำคัญในส่วนของสายรัดสะโพกให้มาก เพราะหากวัสดุที่บุด้านในนิ่มหรือบางเกินไป อาจจะใช้ช่วยในการรองรับแรงกระแทกได้ไม่มากนัก ซึ่งจะทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเป็นแผลบริเวณสะโพกได้ หรือหากวัสดุที่บุด้านในสายรัดสะโพกแข็งเกินไป ก็อาจจะทำให้เกิดบาดแผลกับสะโพกได้เช่นกัน

เป้เดินป่าบางรุ่น จะออกแบบมาให้สามารถจะเปลี่ยนสายรัดสะโพกได้ตามความต้องการของเรา หรือบางรุ่นอาจจะสามารถปรับมุมของสายรัดให้เข้ากับเราได้มากที่สุดอีกด้วย เมื่อคาดสายรัดสะโพก ควรจะปรับให้พอดีกับสะโพก ไม่หลวมเกินไปจนไม่ช่วยในการกระจายน้ำหนักลงที่สะโพก หรือไม่แน่นจนเกินไป จนอาจจะทำให้เกิดการเสียดสีสะโพกมากจนเกินไปได้

3.2 สายสะพายบ่า (Shoulder straps)

ที่สะพายบ่าสำหรับเป้โครงในรุ่นใหม่ มักจะมีความหนานุ่ม และบุด้วยวัสดุที่คล้ายคลึงกับวัสดุที่บุในสายรัดสะโพกเช่นกัน เพื่อช่วยลดแรงกดกระแทกกับบ่าของเรา ไม่ทำให้เกิดการเสียดสี หรือเกิดความเจ็บปวดมากจนทำให้การเดินป่ากลายเป็นความทรมานไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเหงื่อออกมากๆ ในเป้รุ่นใหม่ๆ บางรุ่น (ส่วนมากมักจะเป็นของต่างประเทศ) จะสามารถปรับระดับของที่สะพายบ่าได้ตามความสูงของผู้สะพายอีกด้วย

3.3 แผ่นรองหลัง (Framesheet)

เป้โครงในจะมีแผ่นรองหลังเพิ่มเติม ซึ่งเป็นแผ่นพลาสติกแข็งๆ บางๆ กั้นระหว่างตัวเป้กับแผ่นหลังของเรา โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยลดการกระแทกระหว่างของที่อยู่ในเป้กับหลังของเรา เป้บางรุ่นอาจจะมีผ้าตาข่ายหรือแผ่นโฟมบางๆ ติดอยู่ที่เป้บริเวณใกล้กับกึ่งกลางหลังของเรา เพื่อช่วยให้เกิดการระบายอากาศได้ดีขึ้นอีกด้วย

3.4 ตัวเป้ (Packbags)

ส่วนใหญ่แล้ว สิ่งที่จะพิจารณาก็คือเนื้อผ้าหรือวัสดุที่ใช้ทำเป้ ซึ่งปัจจุบันนี้นิยมใช้เนื้อผ้าที่เป็นไนล่อน เนื่องจากมีน้ำหนักเบา แข็งแรงทนทาน และส่วนมากแล้วจะสามารถต้านทานการขีดข่วนได้ในระดับหนึ่ง และบางรุ่นยังกันน้ำได้อีกด้วย (ที่ว่ากันน้ำได้นั้น น่าจะหมายถึงตัววัสดุที่ใช้มีสารเคลือบกันน้ำได้ ในกรณีที่ฝนตกปรอยๆ หรือโดนน้ำกระเซ็นใส่เล็กน้อย ... แต่ถ้าเป้ตกน้ำหรือวางตากฝนทิ้งไว้ ก็คงจะไม่สามารถกันน้ำได้ร้อยเปอร์เซ็นต์แน่ๆ เพราะน้ำสามารถจะเข้าไปตามรอยต่อหรือฝากระเป๋า หรือซิปต่างๆ ได้)

ส่วนมากแล้วข้อเสียของเป้โครงในก็คือการมีช่องเก็บของในตัวเป้ เพียงช่องเดียว ซึ่งทำให้การค้นหาของระหว่างการเดินทางทำได้ลำบาก แต่เป้โครงในรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้มักจะออกแบบให้มีช่องเก็บถุงนอนแยกต่าง หากอยู่ด้านล่างของตัวเป้ และอาจจะเชื่อมกับช่องเก็บของใหญ่ของตัวเป้โดยมีชั้นกั้นเอาไว้และสามารถรูด ซิปเปิดปิดได้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาไปได้เหมือนกัน เพราะถุงนอนเป็นอุปกรณ์ที่ค่อนข้างจะต้องการพื้นที่เก็บมากพอสมควร

3.5 อุปกรณ์เสริม

เป้โครงในรุ่นใหม่ๆ มักจะมีการเพิ่มอุปกรณ์เสริมต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้มากขึ้น เช่น

* กระเป๋าลูก (Detachable pocket)
เป้โครงในหลายรุ่น ออกแบบมาโดยการเพิ่มกระเป๋าลูกใบเล็กแปะไว้ด้านหน้าของตัวเป้อีกชั้น ซึ่งจะสามารถแยกชิ้นส่วนออกมาเป็นเป้ใบเล็กที่เหมาะสำหรับการเดินเที่ยวใน ระยะสั้นๆ หรือเดินสำรวจรอบบริเวณ เมื่อเราไปถึงที่พักแล้ว
* กระเป๋าเก็บขวดน้ำ (Water-bottle holders/hydration pockets)
เป้โครงนอกส่วนใหญ่จะมีกระเป๋าข้างมากกว่าเป้โครงใน ซึ่งสะดวกสำหรับการเก็บขวดน้ำหรืออุปกรณ์จำเป็นต่างๆ แม้เป้โครงในส่วนใหญ่จะไม่มีกระเป๋าด้านนอกมากนัก แต่เป้โครงในรุ่นใหม่ๆ ก็เริ่มมีการพัฒนาเพิ่มที่เก็บขวดน้ำด้านนอกตัวเป้ เช่น ทำกระเป๋าตาข่ายที่เป็นยางยืดไว้ด้านข้าง ซึ่งสามารถจะเก็บขวดน้ำเล็กๆ ไว้ได้ หรือบางรุ่นได้มีการพัฒนาให้มีที่เก็บน้ำติดกับตัวเป้ไว้เลย โดยเราสามารถจะดื่มน้ำได้จากหลอดที่ต่อท่อยาวออกมาจากที่เก็บน้ำนั้นได้ (คล้ายๆ กระเป๋าน้ำของนักปั่นจักรยานเสือภูเขา)

4.วิธีการจัดเป้ ก่อนอื่น เราควรจะคิดถึงสิ่งที่ควรจะเอาใส่เป้ไปด้วยเวลาไปเดินป่า ว่าควรจะมีอะไรไปบ้าง ซึ่งของใช้จำเป็นในการเดินป่าทุกครั้ง พอจะแบ่งออกได้ตามประเภทต่างๆ ดังนี้

* ถุงนอน
* เต็นท์หรือเปล
* เสื้อผ้า (ปกติเวลาเดินอยู่ในป่าเรามักจะต้องการแค่ชุดที่ใส่ตอนนอนอีกเพียงชุดเดียว ส่วนตอนกลางวันที่เดินป่าก็มักจะใส่ชุดเดิม แต่สำหรับบางคนที่ทนกลิ่นตัวเองไม่ไหว อาจจะเอาเสื้อสำรองเข้าไปเปลี่ยนในแต่ละวันด้วยก็ได้ – นอกจากนี้ ควรจะเตรียมชุดต่างหากอีกชุดเอาไว้ใส่ในวันกลับ)
* อาหาร อุปกรณ์ทำครัว และเชื้อเพลิง
* ของใช้ส่วนตัว เช่น แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สบู่ แชมพู ผ้าเช็ดตัว ผ้าถุง ผ้าขาวม้า และยาแก้แพ้ต่างๆ
* ของใช้อื่นๆ เช่น ไฟฉาย เสื้อกันฝน น้ำดื่ม ชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น เข็มทิศ ถุงพลาสติกหรือถุงดำใบใหญ่ๆ นกหวีด (มีประโยชน์มากในกรณีที่หลงทาง) และของขบเคี้ยวระหว่างทาง (ซึ่งส่วนใหญ่มักจะนิยมช็อกโกแล็ตหรือขนมที่ช่วยให้พลังงาน)
* อาหารสำรอง ซึ่งอาจจะเป็นขนมปังหรืออะไรเล็กๆ น้อยๆ แต่ไม่ให้รับประทานในขณะที่ยังอยู่ในป่า ควรจะเก็บเอาไว้จนถึงวันสุดท้ายของการเดินทาง ที่เราแน่ใจว่าจะกลับออกมาข้างนอกได้แล้ว เผื่อเอาไว้หากมีกรณีฉุกเฉินที่ทำให้ไม่สามารถออกจากป่าได้ตามที่กำหนดไว้ และอาหารที่เตรียมไปอาจจะหมดก่อนที่จะสามารถออกจากป่าได้ เช่น หลงป่า หรือมีน้ำป่าทำให้ต้องอยู่ในป่าเกินเวลาที่กำหนดไว้

เมื่อรู้ว่าควรจะนำอะไรติดตัวเข้าไปในป่าแล้ว เราก็มาดูวิธีการจัดเป้กันว่าควรจะวางอะไรไว้ตรงไหนบ้าง หลักการง่ายๆ อย่างแรกก็คือ วางของที่คิดว่าจะใช้ทีหลังสุดไว้ล่างสุด สำหรับนักเดินป่ามือใหม่ก็คงจะสงสัยว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าจะใช้อะไรตอนไหน ลองจินตนาการดูง่ายๆ โดยไล่ไปตั้งแต่เช้าจรดเย็น สิ่งที่เราจะใช้เป็นสิ่งสุดท้ายก็ควรจะเป็นถุงนอน เพราะกว่าจะนอนได้ก็ต้องเดินไปถึงจุดหมายที่ตั้งแค้มป์แล้ว ถุงนอนจึงเป็นสิ่งที่มักจะวางไว้ส่วนล่างสุดของเป้ และเป้โครงในรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ก็มักจะมีช่องแยกต่างหากไว้ให้เก็บถุงนอนไว้ ด้านล่างด้วยเช่นกัน

ข้อควรจำอีกอย่างสำหรับการเดินป่าในเมืองไทยคือ ทุกครั้งที่จัดของลงเป้ เพื่อความปลอดภัย เราควรจะใส่ของทุกอย่างในถุงพลาสติกอีกชั้นก่อนที่จะใส่ลงในเป้ เพราะสมัยนี้ เมืองไทยฝนตกแทบทั้งปี ไม่ว่าจะเดินป่าฤดูไหน หรือถึงแม้จะไม่มีฝนตก บางครั้งการเดินป่าก็จำเป็นจะต้องมีการเดินข้ามน้ำ หรือปีนป่ายตามน้ำตกบ้าง หรือแม้กระทั่งน้ำค้างในตอนเช้า การห่อหุ้มของใช้ต่างๆ ในถุงพลาสติกอีกชั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น และไม่ได้ทำให้น้ำหนักของกระเป๋าหนักขึ้นแต่อย่างใด ตรงกันข้าม หากไม่ได้ใส่ของต่างๆ ในถุงพลาสติกแล้ว เกิดกระเป๋าของเรามีอันเป็นไป แอบหนีไปนอนเล่นในน้ำ หรือมีฝนตกระหว่างเดิน ทั้งเป้ทั้งของในเป้ก็คงเปียกหมด ทีนี้ล่ะ คงจะได้น้ำหนักส่วนเกินเพิ่มขึ้นมาอย่างหลีกไม่ได้แน่นอน

อุปกรณ์ต่อมาก็คือ เต็นท์หรือเปลและฟรายชีท ซึ่งส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นถุงยาวๆ โดยปรกติเราจะนำเปลและฟรายชีทใส่รวมกันและนำมาวางไว้ในเป้ต่อจากเสื้อผ้า ส่วนเต๊นท์บางครั้งเราอาจจะแยกพวกโครงของเต๊นท์ออกมาและมัดเอาไว้ด้าน นอกกระเป๋า ซึ่งควรจะมัดให้สมดุลและแน่น ไม่โคลงเคลงไปมาทำให้เป็นอุปสรรคในการเดินได้

จากนั้นก็ควรจะเก็บอุปกรณ์ทำครัวต่างๆ เอาไว้ในบริเวณกลางเป้ และเป็นตำแหน่งที่ใกล้กับส่วนหลังของเรา โดยอาจจะหุ้มไว้ด้วยเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์เบาๆ อื่นๆ เพื่อป้องกันการกระแทกอีกด้วย เพราะการจัดเป้ที่ดีนั้น ควรจะวางของที่มีน้ำหนักมากไว้บริเวณที่ใกล้กับกลางหลังของเราหรือค่อนไปทาง ด้านบนของเป้ ซึ่งจะเป็นจุดที่รับน้ำหนักได้ดี และไม่ทำให้เสียการทรงตัวหรือกระเป๋าส่ายไปมาในระหว่างเดิน

ต่อมา ก็คือการเก็บอุปกรณ์ของใช้ส่วนตัวต่างๆ เช่น พวกเสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว สบู่ และแชมพู เป็นต้น ส่วนของใช้อื่นๆ นั้น อาจจะจำเป็นต้องหยิบขึ้นมาใช้ระหว่างการเดินทาง เช่น ไฟฉาย เสื้อกันฝน หรือชุดปฐมพยาบาล ควรจะเก็บไว้ด้านบนที่สามารถหยิบออกมาได้ง่าย เป้ส่วนใหญ่จะมีช่องเก็บของบริเวณฝากระเป๋าด้านบน จึงสามารถจะใส่ของจุกจิกพวกนี้ไว้ได้ สำหรับน้ำดื่ม ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นตลอดการเดินทาง ก็ควรจะแยกเก็บไว้ที่กระเป๋าด้านนอกหรือบริเวณที่สามารถหยิบออกมาได้ง่าย เช่นกัน

สำหรับขั้นตอนในการสะพายเป้ให้กระชับและคล่องตัวที่สุดนั้น สามารถทำได้ง่ายๆ โดยแรกสุดก่อนที่จะสะพายเป้ ก็ควรจะผ่อนสายรัดต่างๆ ออกให้หลวมเสียก่อน จากนั้นเมื่อสะพายเป้ขึ้นบ่าแล้ว จึงเริ่มจากการปรับสายรัดสะโพกให้กระชับพอดี ไม่หลวมหรือคับจนเกินไป แล้วจึงปรับสายของที่สะพายบ่า โดยดึงปลายสายลงพร้อมกันทั้งสองข้าง ให้รู้สึกว่ากระชับพอดี ไม่อึดอัด แล้วจึงดึงสายปรับระดับตัวเป้ที่เชื่อมระหว่างที่สะพายบ่ากับตัวเป้ทั้งสอง ข้างพร้อมกัน ให้กระชับเพื่อความคล่องตัวในเวลาเดิน เพียงเท่านี้ คุณก็จะสามารถเดินป่าได้อย่างมีความสุข ไม่ใช่การทรมานร่างกายเหมือนที่บางคนเคยประสบมา

5.การดูแลรักษาเป้ หากต้องการให้เป้ใบเก่งอยู่กับเรานานๆ เราควรจะรู้จักใช้เป้อย่างถูกวิธี และรู้จักดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ดังนี้

*
ของมีคมควรห่อให้มิดชิด
เพื่อป้องการเป้เสียหาย
เวลา ใช้งาน หากจะต้องใส่ของที่มีความคม เช่น มีด เตา หรืออุปกรณ์ทำครัว ก็ควรจะมีกล่องหรือถุงห่อหุ้มเอาไว้ให้มิดชิด มิฉะนั้น อุปกรณ์เหล่านั้นอาจจะทิ่มทะลุเป้ออกมาทำให้เกิดความเสียหายกับตัวเป้หรือ แม้กระทั่งทิ่มโดนตัวคุณเองด้วยก็ได้

* เมื่อกลับจากการเดินป่าทุกครั้ง ไม่ควรจะทิ้งถุงอาหารหรือเศษอาหารใดๆ ไว้ในเป้เป็นอันขาด เพราะจะทำให้เกิดกลิ่นเหม็นอับในเป้ และยังเป็นตัวเชิญชวนให้สัตว์ไม่พึงประสงค์เข้าไปอาศัยในเป้เราได้อีกด้วย

* ทำความสะอาดเป้ทุกครั้งหลังจากการใช้งานในแต่ละทริป โดยการเอาของออกจากช่องและกระเป๋าต่างๆ ให้หมด และสะบัดเพื่อให้เศษดิน เศษทราย หรือเศษขยะเล็กๆ น้อยๆ ต่างๆ หลุดออกมา หากเป้ของคุณสกปรกมากจริงๆ ก็อาจจะใช้ฟองน้ำชุบน้ำสบู่อ่อนๆ เช็ดทำความสะอาดได้ หลังจากนั้นก็ให้วางผึ่งลมเอาไว้จนแห้ง ไม่ควรจะวางตากแดดตรงๆ เพราะแสงแดดและรังสียูวีจะทำลายเนื้อผ้าไนล่อนได้ในเวลาอันสั้น

* คอยดูแลรักษาเป้อยู่เสมอ หากขาดที่ใดก็คอยเย็บซ่อมแซมให้ดีเหมือนเดิม และหากสายหรือเชือกไนล่อนหลุดลุ่ยในตอนปลายก็สามารถซ่อมได้โดยการเอาไฟลน ด้านปลาย

ชุดซ่อมแซมเป้ ชิ้นส่วนต่าง ๆ หากเสียหายสามารถเปลี่ยนได้


* หมั่นตรวจสอบเป้อยู่เสมอ ว่าในบริเวณที่ใช้งานหนักๆ เช่น บริเวณช่วงต่อของสายสะพายบ่ากับตัวเป้ทั้งด้านบนและด้านล่าง บริเวณช่วงต่อของสายรัดสะโพกกับตัวเป้ หรือบริเวณซิป มีปัญหาอะไรหรือไม่ หากเริ่มมีรอยขาดเพียงเล็กน้อยก็ควรจะรีบซ่อมแซมก่อนที่รอยขาดเหล่านั้นจะ บานปลาย เพราะจุดที่สำคัญต่างๆ เหล่านี้มามีปัญหาหรือขาดเอาตอนที่เราเดินอยู่กลางป่าก็คงจะเป็นเรื่องที่ ไม่น่าสนุกนัก

* เก็บเป้ไว้ในที่ๆ แห้ง ไม่โดนแดด และมีอากาศถ่ายเทที่ดี เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดราน้ำค้าง เพราะราพวกนี้จะทำลายสารกันน้ำที่เคลือบตัวเป้เอาไว้

ที่มา http://www.mrbackpacker.com/gear/gear_35.html

การดูแลรักษาเท้า

เท้าเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการเดินทาง หากเราเกิดอาการเจ็บเท้าหรือเกิดอุบัติเหตุกับเท้าของเรา ก็จะเกิดปัญหาในการเดินขึ้น เราคงจะไม่สามารถหาโรงพยาบาลหรือนั่งรถไปหาหมอได้จนกว่าเราจะเดินออกมาจาก ป่าได้ ซึ่งหลายท่านอาจจะเคยเกิดปัญหาเจ็บเท้า ซึ่งหากเป็นตอนขากลับที่ใกล้ถึงจุดหมายก็อาจจะกัดฟันเดินต่อ แต่หากเจ็บเท้าตั้งแต่วันแรก ๆ ของการเดินทางก็จะมีปัญหามาก ยิ่งทางเดินเป็นทางชันขึ้นดอย ก็อาจจะต้องพึงไม้เท้าเป็นเพื่อนเดินทาง ดังนั้นเราจึงควรจะมีการดูแลรักษาเท้าให้ถูกวิธี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการเดิน ลองดูข้อแนะนำเหล่านี้ที่จะช่วยให้คุณสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาของเท้าได้

การเตรียมตัวก่อนการเดินทาง


* ควรตัดเล็บให้เรียบร้อย – เราควรจะตัดเล็บให้เรียบร้อย เพราะเล็บที่ยาวมีโอกาสที่จะเกิดการเล็บขบ เล็บหลุด ได้มากกว่าเล็บที่สั้น

* การเตรียมถุงเท้า – ถุงเท้าที่จะใช้เดินควรจะนำไปสัก 2 คู่ และควรใช้ถุงเท้าที่มีตะเข็บขนาดเล็ก เพราะตะเข็บที่เล็กจะทำให้เกิดความเสียดสีของเท้ากับถุงเท้าน้อยกว่าตะเข็บ ขนาดใหญ่ และควรจะเลือกเนื้อผ้าที่ดี เพราะจะช่วยการเสียดสีได้

* การเตรียมรองเท้า – รองเท้าที่ใช้ไม่ควรเป็นรองเท้าที่ซื้อมาใหม่ เพราะรองเท้าใหม่มักจะมีโอกาสกัดเท้าได้มากกว่า ควรจะเป็นรองเท้าที่ใส่มาแล้วสักพัก และรองเท้าควรจะพอดีกับเท้าของเรา (ดูรายละเอียดได้จากวิธีการเลือกซื้อรองเท้า) นอกจากนี้เราควรจะเตรียมรองเท้าแตะไว้อีกสักครู่ เพื่อใช้เดินในแค้มป์ รองเท้าแตะจะทำให้เราเดินไปสบายกว่า และเป็นการให้เท้าได้มีการระบายอากาศและเป็นการพักเท้าด้วย (ลองคิดดูว่าหากต้องใส่รองเท้าเดินป่าตลอดเวลา จะอึดอัดขนาดไหน)

รองเท้าที่ใช้ควรเลือก
ให้พอดีกับเท้า

ผ้าเทปจะช่วยลดความเจ็บ
บริเวณตุ่มใส


* แป้ง – แป้งที่เราใช้ทาตัวสามารถนำมาทาที่เท้าได้ แป้งจะเป็นตัวช่วยลดความเสียดสีระหว่างเท้ากับถุงเท้าได้ และยังช่วยให้เท้าแห้งเพราะแป้งจะช่วยดูดความชื้น สำหรับแป้งที่ใช้ทาเท้าโดยเฉพาะ ซึ่งจะพบจำหน่วยตามร้านอุปกรณ์แค้มปิ้งค์ จะมีคุณสมบัติมากกว่าแป้งทาตัวปรกติคือจะสามารถดูดความชื้นได้ดีเป็นพิเศษ

* ผ้าเทป – ควรจะนำผ้าเทปติดตัวไปด้วย เผื่อเกิดตุ่มที่เท้าขึ้นจะได้นำผ้าเทปมาปิดบริเวณตุ่มนั้นเพื่อลดแรงเสียด สีระหว่างผิวหนังกับถุงเท้าได้

* การบาดเจ็บของเท้าก่อนเดินทาง – หากเรามีอาการบาดเจ็บที่เท้า หรือบริเวณที่เกี่ยวข้อง เช่น หัวเข่า ควรจะพบแพทย์ให้เรียบร้อยก่อน และเราควรจะตรวจสอบระยะทางที่ต้องเดินก่อนและประเมินว่า ระยะทางกับอาการเจ็บเท้าของเราจะพอเดินไหวหรือไม่

การดูแลเท้าระหว่างเดินทาง

* ควรให้เท้ามีความสะอาด แห้ง อยู่เสมอ – เราไม่ควรจะทำการเดินลุยน้ำ (หากหลีกเลี่ยงได้) เพราะเมื่อรองเท้าเปียก ก็จะทำให้เกิดแรงเสียดสีระหว่างเท้ากับถุงเท้าได้มากขึ้น ซึ่งการเสียดสีจะทำให้รองเท้ากัดได้ง่าย และจะทำให้เกิดตุ่มใส ๆ ที่เท้า ซึ่งตุ่มใส ๆ นี้จะทำให้เราเกิดอาการเจ็บเท้าเวลาเดิน

* เมื่อเกิดตุ่มใส ๆ ที่เท้า – หากเท้าเราเกิดตุ่มใส ๆ ขึ้นมา ควรจะหยุดเดินและถอดรองเท้าและถุงเท้าออกมา และนำผ้าเทปมาแปะไว้บริเวณที่เกิดตุ่มใส ผ้าเทปจะเป็นตัวลดการเสียดสีระหว่างผิวบริเวณนั้นกับถุงเท้าซึ่งจะช่วยความ เจ็บเวลาเดิน หากเราไม่นำผ้าเทปมาปิดตั้งแต่ต้นแล้วเดินต่อไปเรื่อย ๆ ผิวหนังบริเวณนั้นก็จะเจ็บขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับผ้าเทปที่ใช้ควรเป็นแบบผ้าหรือแบบที่ติดแล้วไม่หลุดง่าย

* หากเกิดอาการเท้าบวม – หากคุณเกิดเดินไปเตะก้อนหิน หรือเกิดอุบัติเหตุอื่น ๆ ขึ้นแล้วเท้าเกิดเจ็บและมีอาการบวมขึ้นมา หากระยะทางเหลืออีกไม่มากแนะนำให้เดินต่อให้ถึงจุดหมายก่อนค่อยถอดรองเท้า ออก เพราะหากถอดรองเท้าออกมาแล้ว อาจจะใส่รองเท้าเข้าไปอีกไม่ได้ เพราะเท้าของเราจะบวมจนใหญ่กว่ารองเท้าแล้ว หากระยะทางเหลืออีกไกลก็อาจจะเปลี่ยนมาใส่รองเท้าแตะแทนก็ได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับสภาพพื้นที่ด้วย เช่น หากเป็นการขึ้นดอยชัน หรือ เป็นการเดินลุยลำธาร รองเท้าแตะอาจจะไม่สะดวก

* ฝึกการเดินขึ้น ลงเขาอย่างถูกวิธี – หากเป็นการเดินขึ้นเขาทางชันไม่ควรจะเดินแบบทิ้งน้ำหนักทั้งตัวมาที่หัวเข่า เพราะจะทำให้หัวเข่าเรารับน้ำหนักมาก หากเป็นการขึ้นเขาแบบที่ไม่มีทางให้เดิน ก็ควรจะเดินแบบซิกแซก ไม่ควรเดินแบบตรง ๆ หรือเราอาจจะใช้ไม้เท้าเข้ามาช่วยก็ได้ ไม้เท้าจะช่วยถ่ายน้ำหนักบางส่วนไปลงที่ไม้ ทำให้เท้าเรารับภาระน้อยลง ส่วนการเดินลงเขา ไม่ควรจะเดินแบบจิกเท้าลงตลอด เพราะจะทำให้เราเจ็บนิ้วโป้ง ควรจะเดินแบบเอาข้างเท้าลงเพราะจะทำให้น้ำหนักลงที่เท้าแทนที่จะลงที่นิ้ว โป้ง

* การเจาะน้ำในตุ่มใส ๆ ออก – หากคุณต้องการเจาะตุ่มใส ๆ ออกก็สามารถทำได้ โดยใช้เข็มที่สะอาด โดยให้ล้างเท้าให้สะอาดก่อน แล้วใช้เข็มเจาะเข้าไปในตุ่มใส ไม่ต้องกลัวเจ็บเพราะผิวหนังบริเวณเท้าจะค่อนข้างหนา เมื่อเจาะแล้วก็ให้บีบน้ำจากตุ่มออกมาให้หมด แล้วใช้ผ้าเทปปิดทับอีกครั้ง

หลังเดินทาง

* หากเกิดอาการเจ็บเท้า ควรจะพบแพทย์เพื่อรักษา ไม่ควรจะปล่อยทิ้งไว้

* หากเกิดอาการเล็บหลุด – ถ้าเล็บของคุณเกิดจะหลุดขึ้นมา ถ้าเล็บเผยอออกมามากแล้วคุณสามารถดึงออกเองได้ ก็สามารถดึงออกมาได้เลย (หากไม่เจ็บ) ไม่ต้องกลัวว่านิ้วจะไม่มีเล็บ เพราะเล็บใหม่จะค่อย ๆ ขึ้นมาแทนที่เองแต่จะต้องใช้เวลาสักหน่อย แต่หากเล็บจะหลุดแต่ไม่สามารถถอดเองได้ ก็ต้องพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ถอดเล็บ วิธีการที่เขาจะถอดเล็บก็คือ เขาจะฉีดยาชาตั้งแต่โคนนิ้วไล่ขึ้นไปจนถึงปลายนิ้ว (โดนไปหลายเข็มกว่าจะได้ถอดจริง) แล้วค่อยใช้เครื่องมือดึงเล็บเราออกมา หากฉีดยาชาเฉพาะปลายนิ้ว จะเกิดอาการเจ็บอยู่จึงต้องมีการฉีดยาไล่ขึ้นไป หลังจากถอดเล็บแล้วหมอก็จะเอาผ้ามาพันไว้ แล้วก็ให้กินยาแก้ปวด แล้วก็จะนัดมาทำแผลใหม่จนแผลแห้ง จากนั้นก็รอเล็บใหม่ขึ้นมาแทนที่ สำหรับคนที่กลัวเจ็บนั้นไม่ต้องกลัวว่าตอนถอดเล็บจะเจ็บ เพราะมียาชาอยู่ แต่จะเจ็บตอนที่ถอดเล็บมาแล้วสักพัก จะรู้สึกปวดที่นิ้ว ก็ให้ใช้ยาแก้ปวดระงับจะช่วยได้

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับตุ่มใส ๆ ที่เท้า

ตุ่มใสที่เท้า
ตุ่ม ใสที่เท้าเกิดจากองค์ประกอบหลัก ๆ 4 อย่างคือ ความชื้น แรงเสียดทาน ความร้อน และความเย็น หากองค์ประกอบต่าง ๆ มีอยู่ที่เท้าคุณ ก็จะมีโอกาสที่เกิดตุ่มใสสูงยิ่งขึ้น ฉะนั้นหากเราต้องการลดโอกาสที่เกิดตุ่มใส ก็จะต้องลดองค์ประกอบทั้ง 4 ชนิด วิธีง่าย ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วคือ การหลีกเลี่ยงการลงน้ำ ใช้ถุงเท้าที่สะอาดไม่เปียกชื้น ให้อากาศถ่ายเทในรองเท้าได้สะดวก ก็จะสามารถช่วยลดโอกาสที่จะเกิดตุ่มใสได้

ก่อนที่จะมาดูรายละเอียดขององค์ประกอบต่าง ๆ เราจะมาดูเรื่องผิวหนังของเราอย่างคร่าว ๆ กันก่อน ผิวหนังของคนเราจะประกอบด้วยผิวหนัง 2 ชั้น คือผิวชั้นนอกและผิวชั้นใน โดยระหว่างผิวหนังทั้งสองจะมีตัวเชื่อมระหว่างชั้นอยู่ซึ่งจะเรียกว่า Basement Membrane Zone หรือ BMZ โดยตุ่มใสจะเกิดบริเวณรอยเชื่อมนี้เมื่อรอยเชื่อมถูกทำลายลงด้วยความร้อน ความชื้น แรงเสียดทาน หรือความเย็น

ในองค์ประกอบทั้ง 4 ที่กล่าวมาเราจะมาดูรายละเอียดกันสักเล็กน้อยว่า สามารถทำให้รอยเชื่อมระหว่างผิวหนังเสียไปได้อย่างไร

* ความร้อน – ทำให้เกิดปฏิกริยา Thermal Reaction ซึ่งจะลายรอยเชื่อมของผิวหนัง ความร้อนอาจจะเกิดจากรองเท้าที่อากาศไม่ถ่ายเท แรงเสียดสีในรองเท้า เป็นต้น

* ความเย็น – ทำให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณผิวหนังลดลง ทำให้ผิวหนังมีความบอบบางมากขึ้น

* ความชื้น – เมื่อมีความชื้นเกิดขึ้น ผิวหนังจะมัการดูดซึมความชื้นเข้าไปทำให้ผิวอ่อนนุ่มและเกิดความอ่อนแอภายใน ผิวหนังขึ้น ความชื้นอาจจะเกิดจากการใส่ถุงเท้าที่อับชื้น รองเท้าที่เปียก

* แรงเสียดทาน – เมื่อผิวหนังเสียดสีกันก็จะก่อให้เกิดแรงเสียดทานขึ้น แรงเสียดทานอาจจะเกิดจากเท้ากับถุงเท้า หรือถุงเท้ากับพื้นรองเท้า บางครั้งก็อาจจะเกิดจากรองเท้าที่แน่นเกินไป หรือมีสิ่งแปลกปลอมใสรองเท้า เป็นต้น

ที่มา http://www.mrbackpacker.com

การป้องกันแมลง

นักเดินป่าทุกคนคงจะเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับแมลงในป่า เช่น ยุง ผึ้ง ต่อ ฯลฯ แมลงเหล่านี้มักจะสร้างความรำคาญให้กับเราเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการกัด ต่อย หรือบินตอมสร้างความรำคาญ ลองคิดดูว่าหากไปแค้มปิ้งค์แล้วพบกับยุงเป็นจำนวนมาก เราก็คงจะนั่งหลบยุงในเต็นท์ แทนที่จะมานั่งคุยเฮฮากันในแค้มป์ ซึ่งแมลงแต่ละแบบนั้นก็จะมีพิษในตัวซึ่งจะส่งผลให้เราเกิดอาการแพ้ เช่น ถ้ายุงกันก็จะเกิดอาการคัน ผึ้งต่อยพิษของเหล็กในก็จะทำให้แผลเราปวด บวม เป็นต้น แต่ใช่ว่าเราจะไม่มีวิธีป้องกันแมลงเหล่านี้ ในปัจจุบันได้มีผลิตภัณฑ์ป้องกันแมลงออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็สามารถช่วยป้องกันแมลงได้ดีทีเดียว

แต่ก็ใช่ว่าทุก ๆ ที่จะมีแมลงเหล่านี้เสมอไป บางภูมิประเทศที่มีลมแรง อากาศหนาวจัด ก็อาจจะไม่มีแมลงมาคอยรบกวนเราก็ได้ แต่ทางที่ดีเราก็ควรจะหาทางป้องกันเอาไว้ก่อน เท่าที่กล่าวมาหลายคนอาจจะคิดว่าแมลงเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ แต่ถ้ามองในอีกด้านหนึ่ง แมลงนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ ซึ่งเป็นห่วงโซ่อาหารของสัตว์ที่กินแมลงเช่น นก ปลา เป็นต้น ถ้าหากขาดแมลงไปก็จะทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ได้

แมลงพบเราได้อย่างไร

บางครั้งเราก็จะพบว่าไม่ได้โดนแมลงเหล่านี้มาสร้างความรำคาญ ให้สักเท่าใดนัก แต่กับบางคนก็จะโดนแมลงเหล่านี้กัดต่อเสมอ แล้วแมลงจะเลือกอย่างไรว่าจะไปกัดใคร แมลงเหล่านี้ได้ทำการหาเหยื่อจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งก๊าซเหล่านี้จะมาจากการหายใจของมนุษย์ ผิวหนัง และเลือด ซึ่งแมลงจะมีสัมผัสไวต่อก๊าซชนิดนี้ ฉะนั้นหากใครที่คายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามาก ก็อาจจะตกเป็นเหยื่ออันโอชะของแมลงเหล่านี้

ผลิตภัณฑ์ป้องกันแมลง

วิธีการป้องกันแมลงคือใช้ยาที่มีขายกันทั่วไป ซึ่งยาป้องกันแมลงจะสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ประเภทใช้สารสังเคราะห์ กับประเภทที่ใช้สารจากธรรมชาติ

ประเภทใช้สารสังเคราะห์

สารสังเคราะห์ที่นิยมใช้เพื่อป้องกันแมลงคือ สาร N-diethly-meta-toluamide หรือมักจะเรียกกันย่อ ๆ ว่า DEET สารชนิดนี้เป็นสารที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันแมลงได้ดีที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งตามปรกติเรมักจะผสมสารนี้ในอัตราความเข้มข้น 4-100% ขึ้นกับชนิดของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ ซึ่ง DEET จะมีคุณสมบัติที่จะดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้แมลงไม่สามารถตรวจจับเราได้

สารสังเคราะห์นี้จะสามารถผสมให้อยู่ในรูปของของเหลวที่ใช้ทา เป็นครีม โลชั่น สเปรย์ ฯลฯ ได้หลากหลายรูปแบบ โดยปรกติผลิตภัณฑ์ทั่วไปจะมีความเข้มข้นอยู่ที่ 20-35% ก็เพียงพอกับการป้องกันแมลงแล้ว หากมีความเข้มข้นมากกว่านี้ก็มักจะนิยมใช้การทางการแพทย์ แต่การใช้สังเคราะห์นั้นถึงจะมีความสามารถกันยุงได้ดีเยี่ยมแต่ก็มีข้อเสีย เช่นกันคือ อาจจะเกิดอาการแพ้ได้ ซึ่งเราควรจะลองใช้สักเล็กน้อยดูก่อน และไม่ควรทาในบริเวณผิวหนังที่บอบบาง เช่น บริเวณใบหน้า ยกเว้นแต่ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ จะมีความเข้มข้นน้อยสามารถทาบนผิวที่บอบบางได้ ซึ่งเราสามารถอ่านคำแนะนำได้ในฉลากของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ และข้อควรจำของการใช้สารสังเคราะห์นี้คือ ไม่ควรนำไปใกล้ไฟ เพราะสารมีคุณสมบัติติดไฟ และไม่ควรนำไปใช้กับพลาสติก ไนลอน เส้นใยสังเคราะห์ เพราะว่าสารนี้อาจจะไปทำลายวัสดุประเภทนี้ได้ ซึ่งอุปกรณ์แค้มปิ้งค์หลายชิ้นจะทำจากวัสดุที่กล่าวมา เช่น เป้อาจจะมีใยสังเคราะห์ เต็นท์หรือเปลที่ทำจากผ้าไนลอน หรือวัสดุอื่นๆ เราจึงควรหลีกเลี่ยวการใช้สารชนิดนี้กับอุปกรณ์เหล่านี้ สำหรับยากันแมลงที่ขายในบ้านเราหลายยี่ห้อก็มีผสมสารชนิดนี้อยู่ เช่น ก.ย. มีส่วนผสม DEET เข้มข้น 24% เป็นต้น

ประเภทใช้สารจากธรรมชาติ

สารที่ได้จากพืชบางชนิดก็มีคุณสมบัติป้องกันแมลงได้เช่นกัน แต่การป้องกันอาจจะสู้ประเภทสังเคราะห์ไม่ได้ หากเรามีอาการแพ้กับสารที่สังเคราะห์ การใช้สารจากธรรมชาติก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ในบ้านเราก็มียาป้องกันแมลงที่ทำจากสารธรรมชาติเช่นกัน ที่นิยมใช้กันมากก็จะเป็นตะไคร้หอม แต่นอกจากตะไคร้หอมแล้ว ยังมีพืชอีกหลายชนิดที่มีคุณสมบัติป้องกันแมลง เช่น น้ำมันจากพืชบางชนิด ตะบองเพชรบางชนิด เป็นต้น ซึ่งพืชหลายอย่างไม่มีในบ้านเรา จึงไม่ได้มีทำออกมาจำหน่าย แต่ก็อาจจะหาได้บ้างตามร้านที่นำผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศมาขาย

รู้จักกับแมลงเบื้องต้น

แมลงที่มักจะมารบกวนเราอยู่บ่อย ๆ จะมีไม่กี่ชนิด เช่น ยุง เห็บ ผึ้ง ต่อ เป็นต้น ซึ่งแมลงเหล่านี้จะพบได้บ่อย แต่ก็มีแมลงบางประเภทที่มีพิษร้ายแรงกว่าชนิดที่ได้กล่าวมา แต่มักจะไม่พบบ่อยนัก เช่น ตะขาย แมงป่อง แมงมุม ฯลฯ แมลงเหล่านี้เรามักจะไปเจอโดยบังเอิญมากกว่า หากเจอก็ควรจะหลีกเลี่ยง เราลองมารู้จักรายละเอียดเบื้องต้นของแมลงที่พบกันบ่อย ๆ กัน

ยุง
แหล่งที่อยู่ : บริเวณน้ำนิ่ง ในป่าที่มีหนองบึง บริเวณที่ไม่มีลมแรง
เวลาออกหากิน : ช่วงบ่ายแก่ ๆ หัวค่ำ และตอนกลางคืน
ดึงดูดโดย : คาร์บอนไดออกไซด์ ความร้อนจากร่างกาย กรดแลคติค (Lactic Acid) เหงื่อ กลิ่น
ไม่ดึงดูดโดย : สีสว่าง ๆ
ข้อมูลเบื้องต้น : ยุงจะเป็นพาหะในการนำโรคได้หลายชนิด เช่น ไข้มาลาเรีย ไข้เลือดออกเป็นต้น หากโดนกัดจะมีอาการคัน เพศผู้จะกินน้ำหวานจากดอกไม้เป็นอาหาร ส่วนเพศเมียจะกินเลือดจากสัตว์ต่าง ๆ ยุงที่คอยมากัดเรานั้นจะเป็นตัวเมีย เป็นสัตว์ที่พบได้โดยทั่วไป ตัวอ่อนของยุงหรือลูกน้ำมักจะนำไปเป็นอาหารปลา

หมัด เห็บ
แหล่งที่อยู่ : ป่า ป่าหญ้า บริเวณที่มีหนองบึง
เวลาออกหากิน : ตลอดเวลา
ดึงดูดโดย : -
ไม่ดึงดูดโดย : สีสว่าง ๆ
ข้อมูลเบื้องต้น : เป็นแมลงที่มีขนาดเล็กถึงเล็กมาก ตัวจะมีลักษณะกลม กินเลือดเป็นอาหาร เห็บหรือหมัดมักจะรอให้สัตว์หรือมนุษย์ผ่านมาและลอยไปเกาะ ซึ่งผู้ที่โดนกัดมักจะมีอาการแพ้ เห็บบางชนิดนั้นมีพิษร้ายแรงเมื่อโดนกัดแล้วแผลจะเป็นสะเก็ดแล้วไม่ยอมหาย ต้องใช้เวลานานกว่าแผลจะหาย

ผึ้ง ต่อ
แหล่งที่อยู่ : ทำรังอยู่บนต้นไม้หรือตามช่องต้นไม้
เวลาออกหากิน : กลางวัน
ดึงดูดโดย : สีสว่าง กลิ่นออกหวานๆ การเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว
ไม่ดึงดูดโดย : สีขาวและสีธรรมชาติ
ข้อมูลเบื้องต้น : ผึ้งและต่อจะมีสีเหลืองดำ มีเหล็กในที่ใช้ป้องกันตัว อาหารของผึ้งจะเป็นน้ำหวานจากดอกไม้ ส่วนตัวต่อนั้นจะกินแมลงขนาดเล็กเป็นอาหาร เช่น แมงมุม แมลงประเภทนี้จะป้องกันตัวโดยใช้เหล็กใน ซึ่งอยู่บริเวณปลายของลำตัว หากโดนต่อยจะมีอาการปวด บวม ซึ่งพิษของต่อจะร้ายแรงกว่าผึ้งหากโดนต่อบางชนิดต่อยหลาย ๆ ตัวอาจจะถึงตายได้ ตามปรกติผึ้งและต่อมักจะไม่เข้ามาทำร้ายเรา แต่จะมาตอมหรือเกาะเท่านั้น หากเราไม่ทำอะไรหรือไม่เผอิญทำให้มันตกใจมันก็มักจะไม่ทำอะไร

วิธีป้องกันแมลง

* หลีกเลี่ยงสารโพแทสเซียมและโซเดียม – สารเหล่านี้จะพบมากในอาหารที่เค็ม เช่น เกลือและน้ำปลา ซึ่งจะมีคุณสมบัติทำให้ร่างกายเกิดการเผาผลาญที่สมดุล หากเราได้รับสารพวกนี้มากเกินไป จะมีผลทำให้ร่างกายเกิดการเร่งการเผาผลาญส่งผลทำให้ร่างกายขับก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ออกมามากกว่าปรกติ ซึ่งสารนี้จะช่วยดึงดูดแมลงให้เข้ามา
* หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นแรง – น้ำหอม น้ำยาดับกลิ่น สบู่ แชมพู ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะทำให้ร่างกายคุณมีกลิ่นติดตัว ซึ่งจะเป็นที่ดึงดูดแมลง และอาจจะทำให้สัตว์ป่าบริเวณนั้นตกใจและไม่มาหากินบริเวณนั้น ถึงแม้ว่าเราจะย้ายที่พักแรมไปแล้วก็ตาม
* ใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว – การใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ถุงเท้า เพื่อปกป้องผิวหนัง จะมีส่วนช่วยในการป้องกันแมลงมากัดเราได้มากขึ้น
* ใส่เสื้อผ้าสีอ่อน – เสื้อผ้าสีเข้มมักจะดึงดูดแมลงมากกว่าเสื้อผ้าสีอ่อน เราจึงควรสวมเสื้อผ้าสีอ่อนเพื่อเป็นการป้องกันแมลงอีกทางหนึ่ง
* ใช้ยากันแมลง – การใช้ยาป้องกันแมลงเป็นวิธีที่จะช่วยเราป้องกันแมลงได้อย่างดี ยาป้องกันแมลงจะสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ ประเภทที่มีส่วนผสมของสารสังเคราะห์ และประเภทที่มาจากสารสกัดจากธรรมชาติ
* การป้องกันแมลงในค่ายพักแรม – เราสามารถใช้ยาป้องกันแมลงฉีดพ่น ไปยังบริเวณมุ้งของเต็นท์หรือเปลได้ แต่ไม่ควรฉีดโดยตรงไปยังอุปกรณ์นั้น เพราะยาป้องกันแมลงจะไปทำลายผ้าไนลอน และอย่าลืมปิดซิปให้เรียบร้อยตลอดเวลา เพื่อไม่ให้แมลงเข้าเต็นท์
* ก่อไฟเพื่อไล่แมลง – ควันไฟจะมีส่วนช่วยในการไล่แมลงได้ หากบริเวณนั้น ๆ มีแมลงมาก ก็อาจจะก่อไฟกองเล็ก ๆ เพื่อไล่แมลงเหล่านั้น
* พกยารักษาแมลงกัดต่อยไปด้วย – เราไม่สามารถป้องกันแมลงได้ 100% ฉะนั้นก็อาจจะมีบ้างที่โดนแมลงกัด เราจึงควรจะพกยาทาสำหรับรักษาแผลแมลงกัดต่อยไว้ใช้ด้วย

ที่มา http://www.mrbackpacker.com