ส่วนประกอบของเป้

ในส่วนนี้จะขอเน้นในเรื่องของส่วนประกอบของเป้โครงใน เพราะถึงแม้จะมีข้อเสียอยู่บ้างบางประการ แต่เนื่องจากความคล่องตัวที่มีมากกว่าเป้โครงนอก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเดินป่าในเมืองไทย เป้โครงในจึงเป็นที่นิยมกันมากขึ้น และผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศก็ยังมีการค้นคว้าเพื่อพัฒนาการผลิตเป้โครงใน ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย

สำหรับบางคน อาจจะเห็นว่าเป้โครงในมักจะมีสายรัดต่างๆ มากมาย ซึ่งบางครั้งอาจจะมองว่าเกะกะ แต่จริงๆ แล้ว สายรัดต่างๆ เหล่านี้ได้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและความคล่องตัวในการเดินป่า มากที่สุด เช่น

  • สายปรับระดับตัวเป้ (Upper Straps) ซึ่งใช้สำหรับปรับยึดที่สะพายบ่ากับตัวเป้ให้กระชับมากที่สุดขณะเดิน
  • สายรัดอก (Sternum Straps) ซึ่งยึดที่สะพายบ่าทั้งสองข้าง ทำให้เป้ไม่เหวี่ยงไปมาเวลาเดิน
  • สายรัดเป้ (Compression Straps) ซึ่งอยู่ด้านข้างทั้งสองข้างของตัวเป้ ช่วยรัดให้เป้มีขนาดเล็กและกระชับ หรือสามารถรัดของเบาๆ ไว้ด้านนอกตัวเป้ได้ด้วย

อย่างไรก็ดี ยังมีส่วนประกอบอื่นๆ ที่สำคัญกว่าสายรัดต่างๆ เหล่านี้อีกมาก เวลาเลือกซื้อเป้ เราควรจะพิจารณาที่ส่วนประกอบสำคัญเหล่านี้เป็นพิเศษ ซึ่งได้แก่

1.สายรัดสะโพก (Hipbelt)

สายรัดสะโพกที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับเป้เดินป่านั้น จะแตกต่างจากสายรัดเอวของเป้ที่ใช้ธรรมดาที่ไม่มีโครงทั่วๆ ไป ที่เป็นเพียงเส้นบางๆ สายรัดสะโพกสำหรับเป้เดินป่าจะมีลักษณะหนาและนุ่มกว่ามาก โดยมีการบุข้างในด้วยวัสดุหลายชั้น เช่น โฟมที่มีความแข็งขึ้นรูป และโฟมอีกชนิดที่มีความนุ่มกว่าและให้ความยืดหยุ่นมากกว่า ซึ่งเอาไว้รองรับการกระแทกระหว่างน้ำหนักของเป้กับสะโพกของเรา สายรัดสะโพกที่พอดีควรจะสามารถรัดได้ในระดับสะโพกตรงบริเวณกระดูกเชิงกราน ซึ่งจะเป็นจุดที่ช่วยในการถ่ายน้ำหนักได้ดีที่สุด เวลาเลือกซื้อเป้ควรจะให้ความสำคัญในส่วนของสายรัดสะโพกให้มาก เพราะหากวัสดุที่บุด้านในนิ่มหรือบางเกินไป อาจจะใช้ช่วยในการรองรับแรงกระแทกได้ไม่มากนัก ซึ่งจะทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเป็นแผลบริเวณสะโพกได้ หรือหากวัสดุที่บุด้านในสายรัดสะโพกแข็งเกินไป ก็อาจจะทำให้เกิดบาดแผลกับสะโพกได้เช่นกัน

เป้เดินป่าบางรุ่น จะออกแบบมาให้สามารถจะเปลี่ยนสายรัดสะโพกได้ตามความต้องการของเรา หรือบางรุ่นอาจจะสามารถปรับมุมของสายรัดให้เข้ากับเราได้มากที่สุดอีกด้วย เมื่อคาดสายรัดสะโพก ควรจะปรับให้พอดีกับสะโพก ไม่หลวมเกินไปจนไม่ช่วยในการกระจายน้ำหนักลงที่สะโพก หรือไม่แน่นจนเกินไป จนอาจจะทำให้เกิดการเสียดสีสะโพกมากจนเกินไปได้

2. สายสะพายบ่า (Shoulder straps)

ที่สะพายบ่าสำหรับเป้โครงในรุ่นใหม่ มักจะมีความหนานุ่ม และบุด้วยวัสดุที่คล้ายคลึงกับวัสดุที่บุในสายรัดสะโพกเช่นกัน เพื่อช่วยลดแรงกดกระแทกกับบ่าของเรา ไม่ทำให้เกิดการเสียดสี หรือเกิดความเจ็บปวดมากจนทำให้การเดินป่ากลายเป็นความทรมานไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเหงื่อออกมากๆ ในเป้รุ่นใหม่ๆ บางรุ่น (ส่วนมากมักจะเป็นของต่างประเทศ) จะสามารถปรับระดับของที่สะพายบ่าได้ตามความสูงของผู้สะพายอีกด้วย

3. แผ่นรองหลัง (Framesheet)

เป้โครงในจะมีแผ่นรองหลังเพิ่มเติม ซึ่งเป็นแผ่นพลาสติกแข็งๆ บางๆ กั้นระหว่างตัวเป้กับแผ่นหลังของเรา โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยลดการกระแทกระหว่างของที่อยู่ในเป้กับหลังของเรา เป้บางรุ่นอาจจะมีผ้าตาข่ายหรือแผ่นโฟมบางๆ ติดอยู่ที่เป้บริเวณใกล้กับกึ่งกลางหลังของเรา เพื่อช่วยให้เกิดการระบายอากาศได้ดีขึ้นอีกด้วย

4. ตัวเป้ (Packbags)

ส่วนใหญ่แล้ว สิ่งที่จะพิจารณาก็คือเนื้อผ้าหรือวัสดุที่ใช้ทำเป้ ซึ่งปัจจุบันนี้นิยมใช้เนื้อผ้าที่เป็นไนล่อน เนื่องจากมีน้ำหนักเบา แข็งแรงทนทาน และส่วนมากแล้วจะสามารถต้านทานการขีดข่วนได้ในระดับหนึ่ง และบางรุ่นยังกันน้ำได้อีกด้วย (ที่ว่ากันน้ำได้นั้น น่าจะหมายถึงตัววัสดุที่ใช้มีสารเคลือบกันน้ำได้ ในกรณีที่ฝนตกปรอยๆ หรือโดนน้ำกระเซ็นใส่เล็กน้อย ... แต่ถ้าเป้ตกน้ำหรือวางตากฝนทิ้งไว้ ก็คงจะไม่สามารถกันน้ำได้ร้อยเปอร์เซ็นต์แน่ๆ เพราะน้ำสามารถจะเข้าไปตามรอยต่อหรือฝากระเป๋า หรือซิปต่างๆ ได้)

ส่วนมากแล้วข้อเสียของเป้โครงในก็คือการมีช่องเก็บของในตัวเป้ เพียงช่องเดียว ซึ่งทำให้การค้นหาของระหว่างการเดินทางทำได้ลำบาก แต่เป้โครงในรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้มักจะออกแบบให้มีช่องเก็บถุงนอนแยกต่าง หากอยู่ด้านล่างของตัวเป้ และอาจจะเชื่อมกับช่องเก็บของใหญ่ของตัวเป้โดยมีชั้นกั้นเอาไว้และสามารถรูด ซิปเปิดปิดได้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาไปได้เหมือนกัน เพราะถุงนอนเป็นอุปกรณ์ที่ค่อนข้างจะต้องการพื้นที่เก็บมากพอสมควร

5. อุปกรณ์เสริม

เป้โครงในรุ่นใหม่ๆ มักจะมีการเพิ่มอุปกรณ์เสริมต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้มากขึ้น เช่น

  • กระเป๋าลูก (Detachable pocket)
    เป้โครงในหลายรุ่น ออกแบบมาโดยการเพิ่มกระเป๋าลูกใบเล็กแปะไว้ด้านหน้าของตัวเป้อีกชั้น ซึ่งจะสามารถแยกชิ้นส่วนออกมาเป็นเป้ใบเล็กที่เหมาะสำหรับการเดินเที่ยวใน ระยะสั้นๆ หรือเดินสำรวจรอบบริเวณ เมื่อเราไปถึงที่พักแล้ว
  • กระเป๋าเก็บขวดน้ำ (Water-bottle holders/hydration pockets)
    เป้โครงนอกส่วนใหญ่จะมีกระเป๋าข้างมากกว่าเป้โครงใน ซึ่งสะดวกสำหรับการเก็บขวดน้ำหรืออุปกรณ์จำเป็นต่างๆ แม้เป้โครงในส่วนใหญ่จะไม่มีกระเป๋าด้านนอกมากนัก แต่เป้โครงในรุ่นใหม่ๆ ก็เริ่มมีการพัฒนาเพิ่มที่เก็บขวดน้ำด้านนอกตัวเป้ เช่น ทำกระเป๋าตาข่ายที่เป็นยางยืดไว้ด้านข้าง ซึ่งสามารถจะเก็บขวดน้ำเล็กๆ ไว้ได้ หรือบางรุ่นได้มีการพัฒนาให้มีที่เก็บน้ำติดกับตัวเป้ไว้เลย โดยเราสามารถจะดื่มน้ำได้จากหลอดที่ต่อท่อยาวออกมาจากที่เก็บน้ำนั้นได้ (คล้ายๆ กระเป๋าน้ำของนักปั่นจักรยานเสือภูเขา)
thank http://www.mrbackpacker.com/gear/gear_10.html

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น