ส่วนประกอบของรองเท้าเดินป่า

รองเท้า เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญ หรือแทบจะเรียกได้ว่าเป็นหัวใจของการเดินป่าเลยทีเดียว เพราะรองเท้าคู่นี้จะพาเราไปสัมผัสความสวยงามตามธรรมชาติในป่าเขาลำเนาไพร ทั้งเดินไต่ระดับตามภูเขาลูกแล้วลูกเล่า หรือท่องน้ำไปตามลำห้วยต่างๆยามเดินหลงป่าหรือ หาเส้นทางในป่าไม่พบ ถ้าเมื่อไรที่เจ้ารองเท้าคู่ใจเกิดทรยศขึ้นมา ก็อาจทำให้เจ้าของต้องน้ำตาเช็ดหัวเข่าได้เช่นกัน และการเที่ยวเดินป่าครั้งนั้นก็คงจะหมดสนุกอย่างสิ้นเชิง รองเท้า จึงนับว่าเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งในการเดินป่า และคงต้องให้ความใส่ใจในการเลือกรองเท้าในการใช้งาน ก่อนอื่นมาทำความรู้จักส่วนประกอบต่างๆของรองเท้า ว่ามีอะไรบ้าง



1. คอรองเท้า (PADDED SCREE COLLAR / COLLAR)
เป็นส่วนสันขอบรองเท้าด้านใน ที่ประกอบด้วยฟองน้ำประกบกาวกับผ้ายืดคล้าย ๆ ผ้าขนหนู ขนสั้น ซึ่งถูกแปรงจนขนขึ้นฟูเล็กน้อย ลักษณะผ้าจะทอไม่แน่น ใช้ชื่อเรียกทั่วไปว่า Visa Pile ความยาวของขนนั้นจะสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับประเภทของรองเท้าและดีไซน์ ส่วนใหญ่ถ้าเป็นรองเท้าสำหรับเดินป่าแล้วจะเป็นขนสั้นมากกว่า เพื่อสะดวกในการดูแลรักษาและความนุ่มนวลในการสวมใส่ อีกทั้งลดการเสียดสีตรงช่วงขอบของปีกรองเท้ากับบริเวณข้อเท้าตรงส่วนที่เป็น เอ็นร้อยหวาย

2. ที่กันกระแทกเอ็นร้อยหวาย (ACHILLES NOTCH)
‘ACHILLES’ คือ เอ็นร้อยหวาย ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของเท้าจึงต้องมีฟองน้ำเพิ่มใส่เข้าไปในจุดนี้ ซึ่งอยู่ตรงกึ่งกลางของด้านหลังของรองเท้าทีเป็นจุดสัมผัสกับเอ็นร้อยหวาย เพื่อคอยรับแรงกระแทกที่อาจเกิดขึ้นจากการเดิน ปีนเขา หรือ อุบัติเหตุจากการหกล้ม

3. ผนังรองเท้า (WATERPROOF / BREATHABLE LINER)
เป็นส่วนที่อยู่ด้านในของรองเท้าจะใช้วัสดุที่กันน้ำและสามารถระบายอากาศได้ดี เพื่อลดความอับชื้นและกลิ่นอันไม่พึงประสงค์

4. ลิ้นรองเท้า (SOFT TONGUE GUSSET)
รองเท้าก็มีลิ้นเหมือนกัน ซึ่งส่วนนี้ประกอบไปด้วยหนังเทียมประกบ กับฟองน้ำ (Form หรือ Sponge ) มีลักษณะเป็นแซนวิชโดยมีหนังเทียมประกบทั้งด้านนอกและด้านใน แล้วเย็บตะเข็บทั้งสองข้างเข้ากับด้านบนของรองเท้า ซึ่งจะมีชื่อเรียกว่า Gusset (Gusset แปลตามตัวคือ เหล็กรูปสามเหลี่ยมที่ใช้ต่อมุมผนัง) ตัวลิ้นของรองเท้านั้นจะอยู่บริเวณใต้เชือกผูกรองเท้า รองเท้าบางประเภทจะเห็นว่า ลิ้นของรองเท้าจะไม่เย็บติดกับด้านบนของรองเท้า เช่น รองเท้ากีฬาประเภทต่างๆ แต่สำหรับรองเท้าเดินป่านั้น ส่วนใหญ่จะเย็บลิ้นเป็นแบบ Gusset เพื่อความสะดวกในการสวมใส่และกระชับยิ่งขึ้นหลังจากร้อยเชือกแล้ว อีกทั้งยังช่วยรักษาตำแหน่งของลิ้นให้อยู่คงที่ไม่บิดเบี้ยวเวลาเคลื่อนใหว

5. รอยต่อลิ้นรองเท้า (SYNTHETIC LINING)
คือส่วนที่เย็บติดกับลิ้นของรองเท้า ( Tongue ) ทั้งด้านนอกและด้านในจะใช้วัสดุที่เรียกว่า Synthetic หรือ หนังเทียมนั่นเอง เพื่อความคงทนในการใช้งานและลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากราคาจะถูกกว่าหนังแท้ มีลักษณะทั้งเป็นแบบด้าน (Dull Finished) และ แบบมัน ( Shining Finished) แล้วแต่ดีไซน์ของรองเท้า

6. แผ่นรองรองเท้า (STIFFENER / PLASTIC HEEL CUP)
เป็นส่วนประกอบสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้รองเท้ามีรูปร่างสวย ชิ้นส่วนนี้จะมีรูปลักษณะโค้งแคบคล้ายๆตัว V ทรงกว้างเพื่อรองรับรูปทรงของส้นเท้า และให้เกิดความกระชับกับส้นเท้า ทำให้ส้นเท้าคงที่ ไม่บิดเวลาก้าวเท้า หรือเกิดอุบัติเหตุเท้าพลิก วัสดุนี้จะมี 2 ประเภทประเภทแรกเป็น Tr Counter ทำจาก Thermoplastic แล้วขึ้นรูปสำเร็จรูปจากโรงงาน อีกประเภทหนึ่งเป็น แผ่นเคมี (Chemical Sheet) ซึ่งต้องนำมาตัด (Cutting) แล้วจึงค่อยนำไปผ่านความร้อนอัดเป็นรูปส้นเท้า ส่วนใหญ่จะนิยมใช้ Tr Counter มากกว่า

7. กันชน (TOE RAND / BUMBER หรือ TOE CAP / TOE GUARD)
เป็นชิ้นส่วนที่เรียกได้ว่า “ กันชน “ เพราะจะคอยรับแรงกระแทกเมื่อเกิดอาการเสือซุ่ม เดินเตะหิน หรือ เตะขอนไม้ โดยไม่ได้ตั้งใจ จะเป็นแผ่นยางที่อัดให้โค้งมนเข้ารูปกับส่วนหัวของรองเท้า บางรุ่นอาจเป็นแผ่นยางชิ้นเดียวกันกับพื้นยางของรองเท้า บางรุ่นอาจแยกชิ้นส่วนกัน ส่วนใหญ่จะพบในรองเท้าเดินป่า และ รองเท้า สไตล์ลำลอง แต่จะไม่พบในรองเท้าประเภทวิ่ง และ รองเท้าทำงาน ปัจจุบันผู้ผลิตพยายามจะฉีกแนวโดยเปลี่ยนวัสดุจากยางมาเป็น PVC แทน ทำให้ กันชน มีความแข็งขึ้นและป้องกันแรงกระแทกให้กับนิ้วเท้าได้เป็นอย่างดี

8. ห่วงเผูกเชือกบริเวณข้อเท้า (ANKLE HOOK)
ตำแหน่งของที่ผูกเชือกรองเท้า จะอยู่บริเวณข้อเท้า เป็นตัวช่วยในการดึงเชือกร้อยรองเท้าให้แน่นขึ้นเพื่อความกระชับในการสวมใส่

9. ห่วงผูกเชือกบริเวณปลายข้อเท้า (LACING HOOK)
จะเป็นห่วงผูกเชือกรองเท้าที่อยู่ตรงจุดสุดท้ายในการร้อยเชือก ซึ่งส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นที่ให้เกี่ยวกับเชือกรองเท้า เพื่อที่จะสะดวกในการถอดเชือกรองเท้าบริเวณด้านบน และเป็นตัวช่วยในการดึงเชือกรองเท้าให้แน่นขึ้น

10. พื้นรองเท้าด้านใน (INSOLE / INLAY SOLE / MOLDED FOOTBED)
เป็นพื้นรองเท้าด้านใน ทำจากฟองน้ำที่ผ่านการขึ้นรูปเป็นรูปเท้าแล้วประกบด้วย Visa Pile (ฟองน้ำประกบกาวกับผ้ายืดคล้ายๆผ้าขนหนู ขนสั้น) เพื่อความนุ่มเท้าขณะสวมใส่ บางรุ่น อาจเป็นแบบ สำเร็จรูปและสามารถถอดออกมาทำความสะอาดได้

11. ชั้นกลางพื้นรองเท้า (MIDSOLE)
เป็นชิ้นส่วนที่อยู่ตรงด้านในของพื้นรองเท้าชั้นนอก ส่วนใหญ่ทำจากวัสดุมีลักษณะนุ่มเหมือนฟองน้ำแต่มีความหนาแน่นมากกว่า จึงทำให้มีความแข็งแรงพร้อมที่จะรองรับน้ำหนักและแรงกระแทกของผู้สวมใส่ขณะ ก้าวเท้า ปกติแล้วเราจะไม่เห็นชิ้นส่วนนี้ถึงแม้ว่าจะถอด แผ่นรองรองเท้า (Insole) ออกมาก็ตาม เนื่องจากว่าจะมี PAPER BOARD เย็บติดกับหน้าผ้า ( ส่วนบนของรองเท้า) อีกชั้นหนึ่งเพื่อความคงทนในการใช้งาน

12. พื้นรองเท้า (CEMENTED WELT / OUTSOLE)
พื้นรองเท้าส่วนจะเป็นส่วนนอกสุดอยู่บริเวณใต้รองเท้า วัสดุส่วนใหญ่จะทำจากยางมีลวดลาย หรือที่เรียกว่า ดอกยาง เพื่อเพิ่มสมรรถนะในการเกาะพื้นขณะเดิน ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่ชื้นแฉะหรือหินกรวดตามสันเขา

13. ส้นรองเท้า (TAPPERED LUG)
พื้นตรงส้นเท้าด้านนอก ส่วนใหญ่จะทำจากยาง บางรุ่นจะใช้ไม้อัดแน่น คล้ายๆไม้ก๊อก หรือ ไม้ ทำชิ้นส่วนนี้เพื่อความคงทนในการใช้งาน

ทั้งหมดนี้ก็คือส่วนประกอบพื้นฐานของรองเท้า หวังว่าเพื่อนๆคงได้รู้จักรองเท้ามากขึ้นและสนุกสนานกับการเดินป่าไปกับ รองเท้าคู่ใจอย่างมีความสุข

thank http://www.mrbackpacker.com/gear/gear_16.html

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น