การดูแลรักษาเท้า

เท้าเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการเดินทาง หากเราเกิดอาการเจ็บเท้าหรือเกิดอุบัติเหตุกับเท้าของเรา ก็จะเกิดปัญหาในการเดินขึ้น เราคงจะไม่สามารถหาโรงพยาบาลหรือนั่งรถไปหาหมอได้จนกว่าเราจะเดินออกมาจาก ป่าได้ ซึ่งหลายท่านอาจจะเคยเกิดปัญหาเจ็บเท้า ซึ่งหากเป็นตอนขากลับที่ใกล้ถึงจุดหมายก็อาจจะกัดฟันเดินต่อ แต่หากเจ็บเท้าตั้งแต่วันแรก ๆ ของการเดินทางก็จะมีปัญหามาก ยิ่งทางเดินเป็นทางชันขึ้นดอย ก็อาจจะต้องพึงไม้เท้าเป็นเพื่อนเดินทาง ดังนั้นเราจึงควรจะมีการดูแลรักษาเท้าให้ถูกวิธี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการเดิน ลองดูข้อแนะนำเหล่านี้ที่จะช่วยให้คุณสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาของเท้าได้

การเตรียมตัวก่อนการเดินทาง


* ควรตัดเล็บให้เรียบร้อย – เราควรจะตัดเล็บให้เรียบร้อย เพราะเล็บที่ยาวมีโอกาสที่จะเกิดการเล็บขบ เล็บหลุด ได้มากกว่าเล็บที่สั้น

* การเตรียมถุงเท้า – ถุงเท้าที่จะใช้เดินควรจะนำไปสัก 2 คู่ และควรใช้ถุงเท้าที่มีตะเข็บขนาดเล็ก เพราะตะเข็บที่เล็กจะทำให้เกิดความเสียดสีของเท้ากับถุงเท้าน้อยกว่าตะเข็บ ขนาดใหญ่ และควรจะเลือกเนื้อผ้าที่ดี เพราะจะช่วยการเสียดสีได้

* การเตรียมรองเท้า – รองเท้าที่ใช้ไม่ควรเป็นรองเท้าที่ซื้อมาใหม่ เพราะรองเท้าใหม่มักจะมีโอกาสกัดเท้าได้มากกว่า ควรจะเป็นรองเท้าที่ใส่มาแล้วสักพัก และรองเท้าควรจะพอดีกับเท้าของเรา (ดูรายละเอียดได้จากวิธีการเลือกซื้อรองเท้า) นอกจากนี้เราควรจะเตรียมรองเท้าแตะไว้อีกสักครู่ เพื่อใช้เดินในแค้มป์ รองเท้าแตะจะทำให้เราเดินไปสบายกว่า และเป็นการให้เท้าได้มีการระบายอากาศและเป็นการพักเท้าด้วย (ลองคิดดูว่าหากต้องใส่รองเท้าเดินป่าตลอดเวลา จะอึดอัดขนาดไหน)

รองเท้าที่ใช้ควรเลือก
ให้พอดีกับเท้า

ผ้าเทปจะช่วยลดความเจ็บ
บริเวณตุ่มใส


* แป้ง – แป้งที่เราใช้ทาตัวสามารถนำมาทาที่เท้าได้ แป้งจะเป็นตัวช่วยลดความเสียดสีระหว่างเท้ากับถุงเท้าได้ และยังช่วยให้เท้าแห้งเพราะแป้งจะช่วยดูดความชื้น สำหรับแป้งที่ใช้ทาเท้าโดยเฉพาะ ซึ่งจะพบจำหน่วยตามร้านอุปกรณ์แค้มปิ้งค์ จะมีคุณสมบัติมากกว่าแป้งทาตัวปรกติคือจะสามารถดูดความชื้นได้ดีเป็นพิเศษ

* ผ้าเทป – ควรจะนำผ้าเทปติดตัวไปด้วย เผื่อเกิดตุ่มที่เท้าขึ้นจะได้นำผ้าเทปมาปิดบริเวณตุ่มนั้นเพื่อลดแรงเสียด สีระหว่างผิวหนังกับถุงเท้าได้

* การบาดเจ็บของเท้าก่อนเดินทาง – หากเรามีอาการบาดเจ็บที่เท้า หรือบริเวณที่เกี่ยวข้อง เช่น หัวเข่า ควรจะพบแพทย์ให้เรียบร้อยก่อน และเราควรจะตรวจสอบระยะทางที่ต้องเดินก่อนและประเมินว่า ระยะทางกับอาการเจ็บเท้าของเราจะพอเดินไหวหรือไม่

การดูแลเท้าระหว่างเดินทาง

* ควรให้เท้ามีความสะอาด แห้ง อยู่เสมอ – เราไม่ควรจะทำการเดินลุยน้ำ (หากหลีกเลี่ยงได้) เพราะเมื่อรองเท้าเปียก ก็จะทำให้เกิดแรงเสียดสีระหว่างเท้ากับถุงเท้าได้มากขึ้น ซึ่งการเสียดสีจะทำให้รองเท้ากัดได้ง่าย และจะทำให้เกิดตุ่มใส ๆ ที่เท้า ซึ่งตุ่มใส ๆ นี้จะทำให้เราเกิดอาการเจ็บเท้าเวลาเดิน

* เมื่อเกิดตุ่มใส ๆ ที่เท้า – หากเท้าเราเกิดตุ่มใส ๆ ขึ้นมา ควรจะหยุดเดินและถอดรองเท้าและถุงเท้าออกมา และนำผ้าเทปมาแปะไว้บริเวณที่เกิดตุ่มใส ผ้าเทปจะเป็นตัวลดการเสียดสีระหว่างผิวบริเวณนั้นกับถุงเท้าซึ่งจะช่วยความ เจ็บเวลาเดิน หากเราไม่นำผ้าเทปมาปิดตั้งแต่ต้นแล้วเดินต่อไปเรื่อย ๆ ผิวหนังบริเวณนั้นก็จะเจ็บขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับผ้าเทปที่ใช้ควรเป็นแบบผ้าหรือแบบที่ติดแล้วไม่หลุดง่าย

* หากเกิดอาการเท้าบวม – หากคุณเกิดเดินไปเตะก้อนหิน หรือเกิดอุบัติเหตุอื่น ๆ ขึ้นแล้วเท้าเกิดเจ็บและมีอาการบวมขึ้นมา หากระยะทางเหลืออีกไม่มากแนะนำให้เดินต่อให้ถึงจุดหมายก่อนค่อยถอดรองเท้า ออก เพราะหากถอดรองเท้าออกมาแล้ว อาจจะใส่รองเท้าเข้าไปอีกไม่ได้ เพราะเท้าของเราจะบวมจนใหญ่กว่ารองเท้าแล้ว หากระยะทางเหลืออีกไกลก็อาจจะเปลี่ยนมาใส่รองเท้าแตะแทนก็ได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับสภาพพื้นที่ด้วย เช่น หากเป็นการขึ้นดอยชัน หรือ เป็นการเดินลุยลำธาร รองเท้าแตะอาจจะไม่สะดวก

* ฝึกการเดินขึ้น ลงเขาอย่างถูกวิธี – หากเป็นการเดินขึ้นเขาทางชันไม่ควรจะเดินแบบทิ้งน้ำหนักทั้งตัวมาที่หัวเข่า เพราะจะทำให้หัวเข่าเรารับน้ำหนักมาก หากเป็นการขึ้นเขาแบบที่ไม่มีทางให้เดิน ก็ควรจะเดินแบบซิกแซก ไม่ควรเดินแบบตรง ๆ หรือเราอาจจะใช้ไม้เท้าเข้ามาช่วยก็ได้ ไม้เท้าจะช่วยถ่ายน้ำหนักบางส่วนไปลงที่ไม้ ทำให้เท้าเรารับภาระน้อยลง ส่วนการเดินลงเขา ไม่ควรจะเดินแบบจิกเท้าลงตลอด เพราะจะทำให้เราเจ็บนิ้วโป้ง ควรจะเดินแบบเอาข้างเท้าลงเพราะจะทำให้น้ำหนักลงที่เท้าแทนที่จะลงที่นิ้ว โป้ง

* การเจาะน้ำในตุ่มใส ๆ ออก – หากคุณต้องการเจาะตุ่มใส ๆ ออกก็สามารถทำได้ โดยใช้เข็มที่สะอาด โดยให้ล้างเท้าให้สะอาดก่อน แล้วใช้เข็มเจาะเข้าไปในตุ่มใส ไม่ต้องกลัวเจ็บเพราะผิวหนังบริเวณเท้าจะค่อนข้างหนา เมื่อเจาะแล้วก็ให้บีบน้ำจากตุ่มออกมาให้หมด แล้วใช้ผ้าเทปปิดทับอีกครั้ง

หลังเดินทาง

* หากเกิดอาการเจ็บเท้า ควรจะพบแพทย์เพื่อรักษา ไม่ควรจะปล่อยทิ้งไว้

* หากเกิดอาการเล็บหลุด – ถ้าเล็บของคุณเกิดจะหลุดขึ้นมา ถ้าเล็บเผยอออกมามากแล้วคุณสามารถดึงออกเองได้ ก็สามารถดึงออกมาได้เลย (หากไม่เจ็บ) ไม่ต้องกลัวว่านิ้วจะไม่มีเล็บ เพราะเล็บใหม่จะค่อย ๆ ขึ้นมาแทนที่เองแต่จะต้องใช้เวลาสักหน่อย แต่หากเล็บจะหลุดแต่ไม่สามารถถอดเองได้ ก็ต้องพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ถอดเล็บ วิธีการที่เขาจะถอดเล็บก็คือ เขาจะฉีดยาชาตั้งแต่โคนนิ้วไล่ขึ้นไปจนถึงปลายนิ้ว (โดนไปหลายเข็มกว่าจะได้ถอดจริง) แล้วค่อยใช้เครื่องมือดึงเล็บเราออกมา หากฉีดยาชาเฉพาะปลายนิ้ว จะเกิดอาการเจ็บอยู่จึงต้องมีการฉีดยาไล่ขึ้นไป หลังจากถอดเล็บแล้วหมอก็จะเอาผ้ามาพันไว้ แล้วก็ให้กินยาแก้ปวด แล้วก็จะนัดมาทำแผลใหม่จนแผลแห้ง จากนั้นก็รอเล็บใหม่ขึ้นมาแทนที่ สำหรับคนที่กลัวเจ็บนั้นไม่ต้องกลัวว่าตอนถอดเล็บจะเจ็บ เพราะมียาชาอยู่ แต่จะเจ็บตอนที่ถอดเล็บมาแล้วสักพัก จะรู้สึกปวดที่นิ้ว ก็ให้ใช้ยาแก้ปวดระงับจะช่วยได้

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับตุ่มใส ๆ ที่เท้า

ตุ่มใสที่เท้า
ตุ่ม ใสที่เท้าเกิดจากองค์ประกอบหลัก ๆ 4 อย่างคือ ความชื้น แรงเสียดทาน ความร้อน และความเย็น หากองค์ประกอบต่าง ๆ มีอยู่ที่เท้าคุณ ก็จะมีโอกาสที่เกิดตุ่มใสสูงยิ่งขึ้น ฉะนั้นหากเราต้องการลดโอกาสที่เกิดตุ่มใส ก็จะต้องลดองค์ประกอบทั้ง 4 ชนิด วิธีง่าย ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วคือ การหลีกเลี่ยงการลงน้ำ ใช้ถุงเท้าที่สะอาดไม่เปียกชื้น ให้อากาศถ่ายเทในรองเท้าได้สะดวก ก็จะสามารถช่วยลดโอกาสที่จะเกิดตุ่มใสได้

ก่อนที่จะมาดูรายละเอียดขององค์ประกอบต่าง ๆ เราจะมาดูเรื่องผิวหนังของเราอย่างคร่าว ๆ กันก่อน ผิวหนังของคนเราจะประกอบด้วยผิวหนัง 2 ชั้น คือผิวชั้นนอกและผิวชั้นใน โดยระหว่างผิวหนังทั้งสองจะมีตัวเชื่อมระหว่างชั้นอยู่ซึ่งจะเรียกว่า Basement Membrane Zone หรือ BMZ โดยตุ่มใสจะเกิดบริเวณรอยเชื่อมนี้เมื่อรอยเชื่อมถูกทำลายลงด้วยความร้อน ความชื้น แรงเสียดทาน หรือความเย็น

ในองค์ประกอบทั้ง 4 ที่กล่าวมาเราจะมาดูรายละเอียดกันสักเล็กน้อยว่า สามารถทำให้รอยเชื่อมระหว่างผิวหนังเสียไปได้อย่างไร

* ความร้อน – ทำให้เกิดปฏิกริยา Thermal Reaction ซึ่งจะลายรอยเชื่อมของผิวหนัง ความร้อนอาจจะเกิดจากรองเท้าที่อากาศไม่ถ่ายเท แรงเสียดสีในรองเท้า เป็นต้น

* ความเย็น – ทำให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณผิวหนังลดลง ทำให้ผิวหนังมีความบอบบางมากขึ้น

* ความชื้น – เมื่อมีความชื้นเกิดขึ้น ผิวหนังจะมัการดูดซึมความชื้นเข้าไปทำให้ผิวอ่อนนุ่มและเกิดความอ่อนแอภายใน ผิวหนังขึ้น ความชื้นอาจจะเกิดจากการใส่ถุงเท้าที่อับชื้น รองเท้าที่เปียก

* แรงเสียดทาน – เมื่อผิวหนังเสียดสีกันก็จะก่อให้เกิดแรงเสียดทานขึ้น แรงเสียดทานอาจจะเกิดจากเท้ากับถุงเท้า หรือถุงเท้ากับพื้นรองเท้า บางครั้งก็อาจจะเกิดจากรองเท้าที่แน่นเกินไป หรือมีสิ่งแปลกปลอมใสรองเท้า เป็นต้น

ที่มา http://www.mrbackpacker.com

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น