ด้ามจับภาชนะ

ด้ามจับภาชนะนั้นเราจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 แบบใหญ่คือ ด้ามจับแบบหูหิ้ว , ด้ามจับแบบพับได้ , ด้ามจับแบบพกพา ในชุดเครื่องครัวแต่ละแบบก็จะมีด้ามจับต่าง ๆ กันออกไป ขึ้นกับรุ่น ยี่ห้อ และขนาดของภาชนะนั้น ๆ เราจะลองมาดูรายละเอียดของด้ามจับแต่ละแบบกันว่าเป็นอย่างไร

ด้ามจับแบบหูหิ้ว (Bail Handles)

ด้าม จับแบบหูหิ้วนี้ก็คือด้ามจับแบบที่ใช้กับถังน้ำทั่วไปนั่นเอง จะมีลักษณะโค้งเป็นรูปครึ่งวงกลม (หรือเป็นรูปเหลี่ยมก็ได้) เชื่อมต่อกับตัวภาชนะหรือหม้อทั้งสองข้าง และสามารถพับเอนลงไปด้านข้างของภาชนะได้เวลาไม่ได้ใช้ด้ามจับเพื่อถือไปไหน ผู้ผลิตบางเจ้าอาจจะออกแบบให้บริเวณตรงกลางของด้ามจับมีลักษณะเป็นร่องเล็ก น้อยเพื่อความสะดวกในการแขวนไม่ให้เลื่อนไหลได้ง่าย ข้อเสียของด้ามจับแบบหูหิ้วนี้ก็คือจะร้อนได้ง่ายเวลาตั้งหม้ออยู่บนเปลวไฟ จนไม่สามารถจะจับต้องด้วยมือเปล่าได้ บางแบบได้มีการออกแบบตัวด้ามให้มีการเคลือบด้วยยางเพื่อเป็นฉนวนกันความร้อน แต่หากเจอกับความร้อนมาก ๆ ตัวยางเองก็อาจจะละลายได้เช่นกัน นอกจากนี้ ด้ามจับแบบนี้ยังอาจจะเป็นเหตุให้อาหารทั้งหม้อหกเทกระจาดราดลงไปบนกองไฟได้ ง่ายๆ หากวางแขวนไว้ไม่ดีเพราะด้ามจับแบบหูหิ้วนี้มักจะแกว่งไกวไปมาได้ง่าย

ด้ามจับแบบพับได้ (Swing Handles)

ตัวด้ามจับแบบพับได้ส่วนมากมักจะทำมาจากลวดหรือเหล็ก โดยมากแล้วเมื่อไม่ได้ใช้ด้ามจับก็จะสามารถพับเก็บแนบไปกับด้านข้างหรือด้าน บนของตัวภาชนะได้ แต่เมื่อต้องการจะใช้ด้ามจับเราก็สามารถจะดึงมันออกมาใช้ ซึ่งในภาชนะขนาดใหญ่ตัวด้ามจับมักจะเป็นด้ามที่แข็งแรง และพับเก็บขึ้นด้านบน ซึ่งข้อดีของด้ามพับที่เก็บด้านบนนั้นคือเก็บได้ง่าย แต่บางครั้งการนำมาใช้ก็ควรจะระวัง เพราะหากดึงด้ามมาล็อคกับตัวภาชนะไม่สุด เวลาถือภาชนะตัวด้ามอาจจะไม่มั่นคง

gear_48_4.jpg
gear_48_5.jpg

ส่วนตัวด้ามแบบพับเข้าด้านข้างนั้น มักจะใช้กับภาชนะที่มีขนาดเล็ก เวลาจะใช้ก็ดึงเหล็กที่พับด้านข้างออกมา ซึ่งด้ามจับแบบนี้ก็ยังมีข้อเสีย อยู่ที่ความร้อนของตัวด้ามจับในขณะทำอาหาร เพราะตัวด้ามจะติดอยู่กับภาชนะ จึงอยู่ใกล้กับกองไฟ ถึงแม้จะเคลือบฉนวนกันความร้อนไว้แล้วก็ยังมีสิทธิ์ที่จะร้อนมากจนไหม้มือ ได้หากไม่ระวัง และหากเราทำอาหารในที่ที่ลมแรงและมีการใช้ที่กั้นลม ด้ามจับแบบนี้ก็อาจจะเกะกะเช่นกัน

ด้ามจับแบบพกพา (Pot Grabber)

ด้ามจับแบบพกพานี้มีไว้เพื่อใช้กับอุปกรณ์เครื่องครัวใด ๆ ที่ไม่มีด้ามจับในตัวนั่นเอง ลักษณะของด้ามจับแบบนี้จะมีรูปร่างคล้ายแท่งเหล็ก โดยจะมีตัวกดเพื่อให้หนีบกับภาชนะ ข้อดีของด้ามจับแบบพกพานี้มีหลายประการด้วยกันเมื่อเปรียบเทียบกับด้ามจับใน ตัวของภาชนะอื่นๆ แรกสุด ด้ามจับแบบพกพานี้ไม่ได้ติดกับตัวภาชนะ เราจะใช้ก็ต่อเมื่อต้องการเคลื่อนย้ายหม้อหรือภาชนะเท่านั้น ตัวด้ามจึงไม่เกะกะเวลาที่เรากางที่กั้นลมขณะทำอาหารไปด้วย นอกจากนี้ ตัวด้ามจะไม่ร้อนมากเกินไปเพราะเราไม่ได้ติดด้ามจับกับภาชนะตลอดเวลา จึงไม่ต้องกังวลว่าตัวด้ามจับอาจจะละลายได้ (หากมีการเคลือบด้านนอกด้วยยาง) เหมือนกับด้ามจับแบบหูหิ้วหรือด้ามจับแบบพับได้ และท้ายที่สุด ด้ามจับแบบพกพาที่มีการออกแบบมาอย่างดีจะทำให้เราสามารถจับภาชนะเคลื่อนย้าย ได้อย่างมั่นคงโดยไม่ต้องกังวลว่าด้ามจับที่หนีบไว้จะหลุด ถึงแม้ว่าจะมีอาหารบรรจุอยู่เต็มหม้อก็ตาม ส่วนข้อเสียของด้ามจับชนิดนี้คือ ตัวด้ามจะอยู่แยกจากตัวภาชนะ บางครั้งหากเก็บไม่ดีก็อาจจะหายได้

gear_48_1.jpg gear_48_2.jpg
ด้ามจับแบบพกพาจะเป็นด้ามเหล็ก และมีตัวหนีบกับภาชนะ

การเลือกชนิดของด้ามจับภาชนะนั้น บางครั้งเราก็ไม่สามารถจะเลือกได้ เพราะแบบและรุ่นของภาชนะนั้นมักจะมีด้ามจับที่มากับภาชนะอยู่แล้วว่าเป็นแบบ ใด เราคงไม่สามารถไปเลือกได้ว่า จะเอาภาชนะรุ่นนี้ แต่จะใช้ด้ามจับแบบนี้ แต่เราก็ไม่ต้องกังวลกับมันมากเท่าไหร่ เพราะโดยปรกติภาชนะพวกนี้มักจะได้รับออกแบบมาดีอยู่แล้ว โดยมีการเลือกใช้ชนิดด้ามจับให้เหมาะสมกับตัวภาชนะในแต่ละชิ้น เช่น หากเป็นภาชนะขนาดใหญ่ก็มักจะใช้ด้ามจับแบบพับขึ้นข้างบนหรือพกพา เพราะภาชนะขนาดใหญ่มักจะถูกนำไปใช้ประกอบอาหาร จึงต้องใช้ด้ามที่สามารถรับน้ำหนักและจับแล้วไม่ร้อน หากเป็นภาชนะขนาดเล็ก ก็มักจะใช้ด้ามจับแบบพับเข้าด้านข้าง เพราะภาชนะขนาดเล็กมักจะใช้ในการต้มน้ำกินกาแฟ หรือ ต้มอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น แต่หากภาชนะรุ่นที่คุณเลือกไม่ใช้ด้ามจับที่คุณต้องการ ก็สามารถดูรุ่นอื่น ๆ หรือยี่ห้ออื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกันได้ ปัจจุบันเครื่องครัวสำหรับแค้มปิ้งค์นั้นเริ่มมีให้เลือกกันหลายแบบ คงมีสักแบบที่ตรงความต้องการของคุณ

ที่มา http://www.mrbackpacker.com/gear/gear_48.html

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น